ลุ้นหุ้นไอพีโอไตรมาส 2/67

สิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2567 พบว่ามีหุ้นน้องใหม่ที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือหุ้นไอพีโอ ทั้งสิ้น 7 บริษัท


เส้นทางนักลงทุน

สิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2567 พบว่ามีหุ้นน้องใหม่ที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือหุ้นไอพีโอ ทั้งสิ้น 7 บริษัท แบ่งเป็น หุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 4 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 3 บริษัท

หากเปรียบเทียบความสำเร็จสำหรับการเข้ามาซื้อขายในวันแรก หรือ First Day Trading ด้วยราคาปิดตลาด ณ สิ้นวันทำการ ที่สามารถยืนเหนือราคาจองได้ พบว่ามี 4 หุ้นไอพีโอที่เหนือจอง ส่วนอีก 3 หุ้นต่ำจอง

4 หุ้นไอพีโอที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว ประกอบด้วย บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) ราคาพุ่งไป 169.98% จากราคาไอพีโอที่ 1.63 บาท มายืนปิดระดับ 4.40 บาท, บมจ.แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท (ADVICE) ราคาบวก 62.04% จาก 3.24 บาท มาสู่ 5.25 บาท

บมจ.แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ (NAT) วิ่ง 27.78% จาก 5.40 บาท มาที่ 6.90 บาท และบมจ.เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ (NL) ราคาหุ้นขยับขึ้น 19.23% จาก 2.60 บาท มายืนปิด 3.50 บาท

ส่วน 3 หุ้นที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเทรดวันแรก คือ บมจ.ยูโร ครีเอชั่นส์ (EURO) ราคาต่ำจอง 18.87% จาก 10.60 บาท ไหลลงสู่ 8.60 บาท, บมจ.ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) ติดลบ 5.17% ราคาทรุดจาก 29 บาท รูดลงมาที่ 27.50 บาท และ บมจ.เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ (PANEL) ราคาหุ้นสูญไป 4.89% จาก 3.68 บาท มาที่ 3.50 บาท

มีการประเมินว่าภาพรวมสถานการณ์ของหุ้นไอพีโอในไตรมาส 2 ของปี 2567 จะมีความคึกคักมากขึ้น ภายใต้ความพร้อมทางด้านข้อมูลของบริษัทนั้น ๆ เพื่อนำเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาคำขอตามการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือขี้ชวน หรือไฟลิ่ง (Filing)

ความต้องการใช้เงินทุนเพื่อขยายธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แต่ละบริษัทต้องการระดมทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อประกอบเข้ากับภาวการณ์ลงทุนของตลาดหุ้นไทยในขณะนั้น ๆ ก็อาจมีส่วนต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม หุ้นน้องใหม่ไอพีโอตัวแรกที่เข้ามาเทรดในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นไตรมาส 2 ของปี 2567 แล้ว เช่น บมจ.เอเชียนน้ำมันปาล์ม (APO) ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะราคาปิด ณ วันเทรดวันแรกพุ่งไปถึง 114.14% จาก 0.99 บาท มาที่ 2.12 บาท

ขณะที่ บมจ.บีพีเอส เทคโนโลยี (BPS) หุ้นน้องใหม่ไอพีโอตัวที่ 2 ของไตรมาสนี้ จากราคาจอง 0.90 บาท ปิดที่ 1.23 บาท บวกไป 36.67%

ส่วนบมจ.คิวทีซีจี (QTCG) หุ้นน้องใหม่ไอพีโอตัวที่ 3 ไม่ประสบความสำเร็จ ปิดที่ 0.95 บาท ต่ำกว่าจอง 1.20 บาท ติดลบ 20.83%

บมจ.นีโอ คอร์ปอเรท (NEO) เข้าเทรดวันที่ 9 เมษายน จากราคาเคาะไอพีโอที่ 1.75 บาท ปิดการซื้อขายสิ้นวันทำการอยู่ที่ 46.25 บาท บวกไป 18.59%

จากฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า มีหุ้นไอพีโอที่ได้รับการอนุมัติ (Approved) จากก.ล.ต.ให้ขายและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แล้วจำนวน 8 บริษัท ส่วนตลาด mai มีจำนวน 5 บริษัท นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไฟลิ่งอีกจำนวนมาก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 40 บริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการรอยื่นเอกสารให้สำนักงานก.ล.ต.พิจารณา โดยบริษัทที่แสดงความสนใจในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังค่อนข้างหนาแน่น

ล่าสุดมีรายชื่อบริษัทที่อยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.และเป็นที่สนใจของนักลงทุน คือ บมจ.ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม “ร้านโอ้กะจู๋” จะขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 159 ล้านหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทขนาดใหญ่ที่ไดรับการอนุมัติให้ขายหุ้นไอพีโอแล้ว แต่ได้เลื่อนแผนการขายและเข้าตลาดหุ้นออกไป โดยปัจจุบันก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะดำเนินการเมื่อไหร่ เช่น บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC), บมจ.ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น (CPFGS) บริษัทในกลุ่มบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.ยัสปาล (JPC) ที่จะขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 156 ล้านหุ้น

ส่วนบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์สตรีทฟู้ดชื่อดัง “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” และยังมีแบรนด์อื่น ๆ ในเครืออีกรวม 6 แบรนด์ ก็มีแผนจะเข้าตลาดหุ้นเช่นกันในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

อีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองภายหลังผู้บริหารประกาศแผนงานจะระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ภายในปี 2568 คือ “Bitkub”

ซึ่งจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bitkub Capital Group Holdings ระบุว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมเงินทุนไว้สำหรับการขยายธุรกิจและการเพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัท โดย Bitkub อยู่ระหว่างการหาที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ เพราะมีแผนขยายทีมงานจาก 2,000 คน ในปัจจุบัน เป็น 3,000 คน ภายในปี 2568

หุ้นน้องใหม่ไอพีโอในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา หากวัดกันที่ชัยชนะในการเข้าเทรดวันแรก ถือว่า 50 ต่อ 50 เพราะจำนวนบริษัทที่ประสบความเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนัก

ส่วน 10 วันทำการของเดือนเมษายนมีหุ้นใหม่เข้ามาเทรดแล้ว 4 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นผู้ชนะ ราคาปิดสิ้นวันทำการสามารถยืนเหนือราคาจองได้

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2 ของปี 2567 ยังเหลือเวลากว่า 2 เดือน ก็ยังต้องลุ้นกันอีกว่า หุ้นน้องไหม่ไอพีโอที่จะเข้ามาซื้อขายต่อจากนี้จะมีมากน้อยแค่ไหน จะคว้าชัยชนะในการเข้าเทรดวันแรกได้หรือไม่ และหากมองไปไกลหน่อยก็ต้องลุ้นว่า ทั้งปีนี้จำนวนหุ้นใหม่ก็ไม่ควรน้อยกว่าปี 2566 นะ ???

Back to top button