LTF ความหวังพลิกฟื้นหุ้นไทย

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF กำลังจุดประกายความหวังของผู้คนในแวดวงตลาดหุ้นไทย


เส้นทางนักลงทุน

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF กำลังจุดประกายความหวังของผู้คนในแวดวงตลาดหุ้นไทย โดยต่างมั่นใจว่ากองทุนฯ นี้จะสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์หุ้นไทยที่เข้าข่าย “ไม่ตาย แต่เลี้ยงไม่โต” ให้กลับมาดีได้

LTF เป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพในระบบตลาดทุนไทย ซึ่งเงินลงทุนใน LTF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน

LTF มีข้อดีที่เหนือกว่ากองทุนที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ในปัจจุบัน ทั้งกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Saving Funds) หรือ SSF และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะถือ LTF กันราว ๆ 5 ปี เพราะแม้จะซื้อวันสุดท้ายของปีปฏิทินนั้น ๆ ก็จะถูกนับเป็น 1 ปีแล้ว และสามารถขายออกได้ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของปีที่ 7 อันเป็นผลจากกองทุนฯ นี้ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องนับการถือครองหน่วยลงทุนแบบวันชนวัน เดือนชนเดือน ในแต่ละปีปฏิทินนั่นเอง

ซึ่งแตกต่างจาก SSF ที่มีเงื่อนไขสามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

ส่วนเงื่อนไขของ Thai ESG กำหนดว่าจะต้องถือครองหน่วยลงทุนครบ 8 ปี แบบวันชนวัน โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

ในอดีตกองทุน LTF ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขเงินหมุนเวียนจากกองทุนฯ นี้ในแต่ละปีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2556 มีจำนวน 4.52 หมื่นล้านบาท ปี 2557 จำนวน 5.63 หมื่นล้านบาท ปี 2558 จำนวน 6.37 หมื่นล้านบาท และปี 2559 จำนวน 5.87 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 6.45 หมื่นล้านบาท ปี 2561 จำนวน 7.66 หมื่นล้านบาท และปี 2562 จำนวน 7.40 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ LTF ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี

ดังนั้น แค่มีกระแสข่าวรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ “พิชัย ชุณหวชิร” ผุดไอเดียฟื้น LTF ตลาดหุ้นก็ขานรับทันทีในวันนั้น (7 พฤษภาคม 2567) โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวขึ้นไปสูงสุด 1,384.74 จุด และอ่อนตัวมาปิดตลาดระดับ 1,376.37 จุด บวก 6.45 จุด หรือ + 0.47%

จากฐานข้อมูลระบุว่ามีคนไทยอยู่ในข่ายต้องยื่นเสียภาษีจำนวน 11 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้เสียภาษีจำนวน 4 ล้านคน  โดย 79% เป็นมนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถนำ LTF มาบริหารแผนภาษีได้

มาถึงวันนี้มีโอกาสและความเป็นไปได้สูงมากว่า LTF กลับมาภายในระยะเวลาไม่นานนับจากนี้ เพราะกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และจะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เร็ว ๆ นี้ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้หรือเดือนหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ รายละเอียดเงื่อนไขของ LTF จะต้องจูงใจมากกว่า 2 กองทุนลดหย่อนภาษี คือ SSF และ Thai ESG ที่มีอยู่ในปัจจุบันดังกล่าว

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ FETCO มีมุมมองว่าหากต้องการให้การฟื้น LTF เห็นผลในการกระตุ้นตลาดหุ้นไทย ภาครัฐควรกำหนดรูปแบบ เงื่อนไข เช่นในอดีต

โดยกำหนดให้เป็นกองทุนเพื่อลงทุนในหุ้นไทยเท่านั้น ให้วงเงินการลดหย่อนไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน แต่จะไม่นับปีปฏิทินแบบวันชนวัน เดือนชนเดือน เช่น 2 กองทุนลดหย่อนภาษีที่มีอยู่ ซึ่งเท่ากับว่าในทางปฏิบัตินักลงทุนถือครองหน่วยลงทุนประมาณ 5 ปี ก็สามารถขายออกได้

ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากภาครัฐกำหนดรูปแบบ เงื่อนไข LTF เหมือนในอดีต จะกระตุ้นความสนใจจากนักลงทุนได้ โดยเม็ดเงินใหม่ที่ไหลเข้ามาใน LTF จะเพิ่มสภาพคล่องและจะผลักดัน SET Index ให้ขยับขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การเปิดกรอบให้สามารถลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินสูงก็จะมีผลกระทบต่อภาษี และจะกระทบกับการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง

งานนี้ถือว่ากระแสตอบรับการกลับมาของ LTF ดีมาก ภายใต้ความหวังตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ภาวะกระทิง

Back to top button