
แบงก์จะลดดอกเบี้ยกี่โมง.!?
วันที่ 30 เม.ย.68 ที่ผ่านมา กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี มาเป็น 1.75% ต่อปี “ให้มีผลทันที”
วันที่ 30 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากเดิมระดับ 2% ต่อปี มาเป็น 1.75% ต่อปี “ให้มีผลทันที”
โดยกนง.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นรวมทั้งสภาวะ การเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
ขณะที่กนง.เสียงส่วนน้อยเห็นว่า ควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด ภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีจำกัด
จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์เต็มยังไม่เห็นธนาคารใดเลยที่จะออกมาประกาศ “ปรับลดดอกเบี้ย” แม้กระทั่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเอง “เงียบกริบ” ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่เลย..!!
ฟากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็ยังเสพสมกับอัตราดอกเบี้ยเดิม..ไม่กระตือรือร้นจะออกมาประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อชาติหรือเพื่อลูกค้าของตัวเองเอาเสียเลย..!?
เอ้..หรือว่านี่คือเทคนิคที่บรรดาแบงก์ต่าง ๆ รอให้ผ่านพ้นช่วงที่บรรดาลูกหนี้ต้องจ่ายค่างวดเดือนเม.ย. 68 ผ่านพ้นไปก่อน..ใช่หรือไม่..!?
อีกเหตุผลที่น่าขบคิด..นั่นคือดูจากงบไตรมาส 1/68 ที่ตัวเลข NIM (ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ) อ่อนแอและความเสี่ยงเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ ทำกำไรรวมกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 52,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ดูเผิน ๆ กำไรเพิ่มขึ้น..แต่ทว่าผลการดำเนินงานหลัก เช่น การเติบโตของสินเชื่อ อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (Credit Cost) แย่กว่าที่ตลาดคาดหวังไว้..
ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ไม่แน่นอนจากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ส่งผลให้คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง
มีการประเมินแนวโน้มสินเชื่ออ่อนแอ โดยสินเชื่อปีนี้อาจลดลงอีกจากปี 2567 เห็นได้จากสินเชื่อรวมช่วงไตรมาส 1/68 ลดลงเล็กน้อยและการลงทุนภาคธุรกิจอาจชะลอตัวลงช่วงไตรมาส 2-3 และต้องรอดูทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของภาษีการค้าสหรัฐฯ, สินเชื่อธุรกิจเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้ช่วงปี 2568
ส่งผลต่อผลตอบแทนสินเชื่อโดยรวม เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้มีผลตอบแทนสินเชื่อต่ำ…
ขณะที่ Credit cost ยังสูง ทำให้ธนาคารส่วนใหญ่ต้องใช้เงินสำรองส่วนเกิน (management overlay) เพิ่มเติมช่วงไตรมาส 2-3 และ Credit cost น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.50% เทียบกับ 1.49% ไตรมาส 1/68
และธนาคารต้องลดระดับคุณภาพสินเชื่อลูกค้าสินเชื่อเชิงพาณิชย์บางรายลง มาเป็นสินเชื่อจัดชั้น Stage 2 ช่วงไตรมาส 2/68
นั่นทำให้ Credit Cost สูงขึ้น..!!!
ที่สำคัญลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตจะมีความเสี่ยงต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ถูกประเมินว่า 15-20% ของสินเชื่อทั้งหมด จะเกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก
นั่นทำให้มีการปรับลดประมาณการกำไรปี 2568-2570 กลุ่มธนาคารลง 1.6% 4.5% และ 5.3% มาสู่ระดับ 185,000ล้านบาท, 188,000 ล้านบาท และ 190,000 ล้านบาท
ภายใต้การปรับลดสมมติฐาน NIM และการเติบโตของสินเชื่อ แต่ปรับเพิ่มสมมติฐาน Credit Cost ทำให้กำไรปี 2568 มีแนวโน้มปรับลดลง 5% ก่อนเริ่มฟื้นตัวขึ้นช่วงปี 2569
แหละนี่คือ..อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แบงก์ประวิงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยใช่หรือไม่..!?
แต่ไม่รู้ล่ะ..ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างใด ๆ
กลับมาที่คำถามเดิม..แล้ว “แบงก์จะลดดอกเบี้ยกี่โมง” ละเนี่ย..!?
เล็กเซียวหงส์