ความเชื่อมั่นต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรีได้เคาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย การทุ่มเงิน 1.2 แสนล้านบาท แต่โชคร้ายที่แผนนี้ออกมาในช่วงเดียวกับการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน


เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรีได้เคาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย การทุ่มเงิน 1.2 แสนล้านบาท แต่โชคร้ายที่แผนนี้ออกมาในช่วงเดียวกับการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนเม.ย. 68 อยู่ที่ระดับ 55.4 ปรับตัวลดลงทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค. 67 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0

โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 49.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 53.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 63.9

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 68 ได้แก่

  1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 ลงเหลือโต 2.1% จากเดิมคาดโต 3% สาเหตุหลักจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพสูง และมองว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
  3. ราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
  4. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ 
  5. เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 
  6. กังวลปัญหาภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และครัวเรือน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุน ได้แก่

  1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี
  2. ครม.เห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01%
  3. การส่งออกไทยเดือนมี.ค. 68 มีมูลค่าสูงถึง 29,548 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.84% และเกินดุลการค้า 972 ล้านดอลลาร์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลพวงสืบเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.พ. ที่สหรัฐฯ เริ่มประกาศมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่พืชผลทางการเกษตรหลัก ๆ ของไทยราคาย่อตัวลง ทำให้เม็ดเงินที่จะสะพัดในตลาดสินค้าเกษตรลดลงไปจากเดิม และยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะกรณีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนหลักในฝั่งรัฐบาล กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปัญหาการเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการเมืองไทย ออกมาต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แม้จะยังไม่มีสถานการณ์ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบรุนแรง

“การเมืองเป็นสถานการณ์ที่เจือเข้ามาในระยะหลัง ที่คนบอกว่าเริ่มจะมองการเมืองในปัจจุบัน และในอนาคตว่าไม่โดดเด่น สอดคล้องกับการไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกับสินค้าคงทน เช่น บ้าน และรถ รวมถึงค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยว ดังนั้นจะเห็นว่าสถานการณ์เริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจ คนใช้จ่ายน้อย เริ่มมีเสียงบ่นจากทั่วประเทศว่ายอดขายหาย ซึ่งก็สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยด้วยเช่นกัน รวมถึงดัชนีวัดความสุข ที่ย่อตัวลงต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่มี.ค. 66 ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังไม่โดดเด่น และยังไม่เป็นขาขึ้นได้เร็ว”

เชิงลบของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาเมื่อวานคงไม่มีอะไรใหม่ และถูกมองข้าม

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button