เม่าแบกแล้ว 1.07 แสนล.

นับจากต้นปี 2568 มาจนถึงวานนี้ (7 ก.ค.) นักลงทุนในประเทศหรือ “รายย่อย” ที่ถูกขนานนามว่า “แมงเม่า” ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 1.07 แสนล้านบาท


นับจากต้นปี 2568 มาจนถึงวานนี้ (7 ก.ค.)

นักลงทุนในประเทศหรือ “รายย่อย” ที่ถูกขนานนามว่า “แมงเม่า” ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 1.07 แสนล้านบาท

สวนทางกับนักลงทุนสถาบัน โบรกเกอร์ และต่างชาติที่ขายสุทธิออกมา

เม่าซื้อฝ่ายเดียวแบบนี้จะเรียกว่า (ถูก) 3 รุมหนึ่งก็ว่าได้

นักลงทุนสถาบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนต่าง ๆ ที่ภาครัฐเองจะพยายามฝากผีฝากไข้ ช่วยประคองดัชนีหุ้นไทย จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิถึง 1.2 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับพอร์ตโบรกเกอร์ที่ขายประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เช่นเดียวกัน

ส่วนต่างชาติที่ยัง “ขายแล้ว ขายอยู่ และขายต่อ”

ล่าสุดตัวเลขจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันขายสุทธิอยู่ประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท

ในปี 2567 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 1.47 แสนล้านบาท

ดังนั้น ยอดขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกปี 2568 จะเท่า ๆ กับประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายของนักลงทุนต่างชาติในปี 2567

อาจจะมีคำถามว่า ต่างชาติยังมีหุ้นให้เหลือขายอีกเยอะไหม

คำตอบคือ หากอ้างอิงจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทย

จะพบว่า ณ สิ้นปี 2567 นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 868 บริษัท มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 5.83 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 33.82% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด

ตัวเลขลงทุนของต่างชาติที่ว่านี้นั้น จะเป็นยอดลงทุนทั้งระยะยาว (บริษัทต่างชาติเข้ามาถือหุ้นหรือลงทุนโดยตรง)

และระยะสั้น ที่เป็นการลงทุนของกองทุนต่างชาติ ที่จะซื้อ ๆ ขาย ๆ

ประเด็นที่น่าสนใจของรายย่อยที่แบกหุ้นไทยจากต้นปีแล้วกว่า 1.07 แสนล้านบาทนั้น

เมื่อดูดัชนีต้นปีอยู่ที่ 1,400 จุด ส่วนล่าสุด 1,112 จุด หรือช่วง 6 เดือนแรก ดัชนีปรับลงมา 20-21% จึงมีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนรายย่อยจะติดหุ้นกันอยู่ค่อนข้างมากตั้งแต่ระดับ 1,400 จุด ลงมา

ขณะที่ล่าสุด สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เผยผลการสำรวจความเห็นต่อทิศทางการลงทุนครึ่งหลังของปี 2568

มีความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 22 บริษัท

แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 18 บริษัท และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 2 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 2 บริษัท

ทั้งหมดได้ปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยช่วงสิ้นปี 2568 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,231 จุด ลดลงจากเดิมที่คาดไว้เดิม 1,322 จุด 

และยังคาดการณ์ค่าเฉลี่ยของดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2568 อยู่ที่ 1,166 จุด และมองตลอดปีดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,023-1,267 จุด

หากดูจากตัวเลขคาดการณ์ดัชนี

น่าจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ใครเข้าลงทุนในหุ้นตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะ “ติดดอย” ข้ามปีกันเลย

เพราะปัจจัยบวกที่จะเข้ามาหนุนตลาดฯ ตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่า จะมีปัจจัยไหนเข้ามาดันดัชนีให้วิ่งขึ้นแบบแรลลี่ได้ ตรงข้ามกับปัจจัยลบที่ยังคงอยู่

ทั้งการเมืองภายในประเทศ สงครามการค้า ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ

สมมุติว่า ในเรื่องภาษีการค้าหากสหรัฐฯ คิดสินค้าที่ส่งจากไทยไปยังสหรัฐฯ กลับไปที่ 36% 

มีการดีดลูกคิดคำนวณกันแล้วว่า ดัชนีน่าจะร่วงหลุด 1,100 จุด

และหากหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะรายงานผลประกอบงวดไตรมาส 2/2568 ออกมา แล้วหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้น เราคงเห็นการเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์อย่างหนักแน่

เมื่อถึงเวลานั้น ดัชนีมีโอกาสที่จะหลุดระดับ 1 พันจุดได้ อย่างที่เคยเขียนบอกไป

ช่วงเวลานี้ เราจึงเห็นนักวิเคราะหืแนะนำให้ wait and see กันมากขึ้น

เห็นดัชนีวิ่งขึ้นมานิดหน่อยอย่าไปไล่ล่ะ

ไม่ต้องกลัวตกขบวน

แต่ควรจะกลัวติดดอยมากกว่า

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button