พาราสาวะถี อรชุน

ยืนยันเองจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับข้อห่วงใยที่ย้ำมาโดยตลอดว่า กระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหนนี้เรื่องของพ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่กฎหมายแค่ฉบับเดียวที่จะถูกนำมาใช้ควบคุมกลุ่มที่แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งคงเน้นหนักไปที่ฝ่ายไม่รับ) เพราะยังมีคำสั่งคสช. รวมถึงมาตรายาวิเศษอย่างม.44 ด้วย


ยืนยันเองจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับข้อห่วงใยที่ย้ำมาโดยตลอดว่า กระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหนนี้เรื่องของพ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่กฎหมายแค่ฉบับเดียวที่จะถูกนำมาใช้ควบคุมกลุ่มที่แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งคงเน้นหนักไปที่ฝ่ายไม่รับ) เพราะยังมีคำสั่งคสช. รวมถึงมาตรายาวิเศษอย่างม.44 ด้วย

โดยบิ๊กตู่ย้ำหนักแน่นว่าทั้งกกต.และคสช.จะต้องหารือกัน เพื่อวางกติการ่วมกันสิ่งไหนทำได้สิ่งไหนห้าม แน่นอนว่าคำถามที่หลายคนอยากได้คำตอบก็คือ หากกกต.เห็นว่าบางสิ่งทำได้แต่คสช.ไม่เห็นด้วยแล้วทางออกของปัญหาจะมีข้อยุติอย่างไร หนีไม่พ้นใช้วิธีการทุบโต๊ะใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้นกกต.ก็เป็นได้แค่เสือกระดาษ

ทั้งๆที่ถือกฎหมายที่ชื่อว่าพระราชบัญญัติน่าจะมีศักดิ์และสิทธิ์เหนือกว่าคำสั่งของคสช. แต่ในบริบทที่หัวหน้าคสช.มีอำนาจวิเศษจากมาตรา 44 และเชื่อมั่นว่าอำนาจของตัวเองคือกฎหมายและยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด ดังนั้น ในฐานะแค่ผู้ปฏิบัติองค์กรหนึ่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเสนอหน้าว่าข้อเป็นองค์กรอิสระ จึงต้องทำตามความต้องการขององค์รัฏฐาธิปัตย์เป็นหลัก

ตัวอย่างง่ายๆที่กกต.จะเห็นไม่ตรงกันอย่างแน่นอนนั่นก็คือ เวทีแสดงความเห็นของนักวิชาการ คนอย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร น่าจะเข้าใจบทบาทของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะรวมไปถึงกกต.รายอื่นด้วย แต่ฝ่ายความมั่นคงอย่างคสช.ถือระเบียบเคร่งครัด จะเห็นได้จากการห้ามจัดเวทีหลายครั้งก่อนหน้านี้ ยิ่งเวลานี้จะเป็นเวทีที่ตั้งวงถกและคงหนีไม่พ้นโจมตีร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้วคงยอมกันไม่ได้

เท่านี้ก็เห็นแล้วว่า กฎหมายและอำนาจที่กกต.มีอยู่นั้นใช้ไม่ได้ เพราะอำนาจของฝ่ายความมั่นคงเหนือกว่า ดังนั้น กฎ กติกาที่สมชัยบอกว่าคงจะเขียนให้ชัดเจนไม่ได้ จึงพอจะเข้าใจได้ว่าน่าจะมาจากเหตุผลตรงนี้ เพียงแต่ว่าเจ้าตัวไม่กล้าที่จะตะโกนบอกสังคมดังๆ ว่า สาเหตุที่กกต.ต้องเลี่ยงบาลีตีกรรเชียงนั้น เป็นเพราะมีเงาทะมึนกดทับอยู่นั่นเอง

เมื่อจะต้องเดินกันในแนวทางนี้ ย่อมหนีไม่พ้นความอึดอัด การจะตีความข้อกฎหมายเพื่อเล่นงานฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวัง กรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงชนกับ จตุพร พรหมพันธุ์ ทั้งบิ๊กตู่และคสช.ประสานเสียงโทนเดียวกัน ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่ากระทำความผิดหรือไม่ ทายได้ว่า ถ้าไม่อย่างหนาสุดๆ คงต้องปล่อยผ่านไปทั้งสองกรณี

อาจจะมีการส่งสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งอย่างใดไว้ก่อน จากนั้นก็ค่อยดูท่าทีของแต่ละฝ่ายว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากดูจากการแสดงออกแล้ว ฝ่ายแกนนำนปช.น่าจะขยับกันมากกว่า หากเป็นเช่นนั้นถ้ามีประเด็นที่เข้าข่ายกระทำผิดพ.ร.บ.ประชามติ คงจะมีคนรีบร้องเรียนและฝ่ายมีอำนาจก็จะจัดการเด็ดขาดทันทีทันใด

ความเป็นจริงที่สัมผัสกันได้ ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน  ระหว่างฝ่ายเดียวกันและต่างฝ่าย  จึงทำให้เกิดสองมาตรฐานในเรื่องเดียวกัน  หรือบางครั้งก็ไม่สามารถหามาตรฐานมารองรับหรืออธิบายได้เลย ซึ่งจะเห็นได้จากคนบางกลุ่มสามารถทำเรื่องที่ผิดกฎหมายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย  โดยผู้มีอำนาจให้การหนุนหลังหรือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้การรับรองพฤติกรรมว่าเป็นคนดี

ในขณะที่อีกพวกแค่ขยับตัวหรือหายใจผิดจังหวะก็ถือว่ามีความผิดแล้ว นี่คือภาพสะท้อนการบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริง แม้ในช่วงแรกของการยึดอำนาจจะมีการประกาศเข้ามาสังคายนาระบบกระบวนการยุติธรรมที่สร้างปัญหา แต่ยิ่งนานวันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากมีการยึดหลักนิติรัฐจริง การทุ่มเถียงและข้อครหาต่างๆ จะต้องไม่เกิดขึ้น

เพราะนิติรัฐความหมายทางทฤษฎีแล้วก็คือ การปกครองของรัฐที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่  ทว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการยึดถือการปกครองด้วยอำนาจบารมีของผู้ถือกฎหมายเป็นใหญ่  หลักการพื้นฐานง่ายๆที่จะพิสูจน์ความเป็นนิติรัฐก็คือ รัฐต้องให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้ง 3 ประการ  ได้แก่  สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

แต่นั่นก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเลื่อนลอยที่เป็นแผ่นเสียงตกร่องมาช้านาน  ทั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติด้วย  ถือได้ว่าเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างกับสังคมไทยเรื่อยมาว่า ไม่มีคนกลุ่มใดสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ ซึ่งก็ผ่านกระบวนการพิสูจน์มาแล้วว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ ขณะที่อีกฝ่ายจะถูกกฎหมายเล่นงานสารพัด

ความหวังที่จะเห็นหลักนิติรัฐถูกนำมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยคงเกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งได้ฟังมุมมองของ แฟรงค์ มังเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จากโรงเรียนกฎหมายแห่งนิวยอร์คแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันคงห่างไกลจริงๆ โดยมังเกอร์มองว่า การรัฐประหารในปี 2549 และล่าสุดในปี 2557 ได้ทำร้ายการพัฒนาระบบนิติรัฐในไทยเป็นอย่างมาก

รัฐประหารทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ในหมู่นักกฎหมายด้วยกัน กล่าวคือ ในขณะที่นักกฎหมายรุ่นเก่าที่เป็นคนเดือนตุลา มีแนวโน้มจะสนับสนุนรัฐประหาร นักกฎหมายรุ่นใหม่หลายๆคนกลับต่อต้านอำนาจนอกระบบที่ว่า และเป็นคนกลุ่มหลังนี่เองที่นับถือในอุดมการณ์ทางการเมืองและสนใจศึกษา

แม้พวกเขาแทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนสักบาทเลยก็ตาม พวกเขากลับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับคนยากอย่างไม่ย่อท้อแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย ปัญหาใหญ่ก็คือคณะรัฐประหารกลับทำให้งานของพวกเขายากลำบากขึ้น บ้างก็โดนสอดส่องและนำไปปรับทัศนคติ ทั้งที่แท้จริงแล้วรัฐบาลไทยควรหันมาให้ความสนใจและสนับสนุนนักกฎหมายเหล่านี้

เพราะคนพวกนี้ผลักดันให้เกิดการประสานงานกับองค์กรกฎหมายและสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีระบบนิติรัฐทั้งสิ้น ปัญหาสำคัญคือ รัฐบาลไทยยังละเลยเรื่องพวกนี้และกระบวนการสร้างระบบนิติรัฐจากภาคประชาสังคมเบื้องล่างจะพบอุปสรรคต่อไป กับบทสรุปที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ ตราบใดที่ตัวรัฐบาลทหารเองยังไม่คิดด้วยซ้ำว่าอยากจะแบ่งปันอำนาจให้กับใคร

Back to top button