ดราม่าของราคาน้ำมัน พลวัต 2016

ในขณะที่คนบางกลุ่มที่แสดงการอวดรู้ว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทใกล้จะฟองสบู่แตกอีกไม่นาน เพราะค่าพี/อีสูงเกินไป ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกที่พากันปรับฐานมาหลายวันต่อเนื่องตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อน ก็เริ่มตั้งตัวได้เมื่อวานนี้ และมีทีท่าว่าจะพลิกกลับขึ้นเป็นขาขึ้นในระยะต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่การรีบาวด์แบบ “แมวตายเด้ง” ชั่วคราว


วิษณุ โชลิตกุล

 

ในขณะที่คนบางกลุ่มที่แสดงการอวดรู้ว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทใกล้จะฟองสบู่แตกอีกไม่นาน เพราะค่าพี/อีสูงเกินไป ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกที่พากันปรับฐานมาหลายวันต่อเนื่องตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อน ก็เริ่มตั้งตัวได้เมื่อวานนี้ และมีทีท่าว่าจะพลิกกลับขึ้นเป็นขาขึ้นในระยะต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่การรีบาวด์แบบ “แมวตายเด้ง” ชั่วคราว

คำถามว่าเกิดอะไรขึ้น มีคำตอบชัดเจนจากบรรดานักเก็งกำไรที่ชำนาญ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่รู้จักสัญญาณเทคนิคดีมากเกินพอ ค่อนข้างจะตรงกันว่า ตลาดหุ้นที่พักฐานระยะสั้น เพียงแค่ต้องการลดความร้อนแรงของราคาลงไปจากเขตซื้อมากเกินตามปกติเท่านั้นเอง

สาเหตุสำคัญเบื้องหลังการพักฐานระยะสั้นชั่วคราวของตลาดหุ้นยามนี้คือ  ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ทำการพักฐานชั่วคราวหลังจากทะยานใกล้ราคา 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาแล้วนั่นเอง

การพักฐานดังกล่าว แม้จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กและลอนดอน พากันปรับตัวลง มาอยู่ที่ระดับเหนือ 48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ที่บ่งบอกขีดจำกัดขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบก็จริง แต่ก็มีคำถามว่า การปรับตัวดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติของอุปสงค์อุปทานของกลไกตลาดหรือไม่

คำตอบคือไม่ใช่ เพราะในธุรกิจน้ำมันของโลกยามนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา มีพี่เบิ้มไม่กี่ประเทศ ทำการกำกับดูแลอย่างช่ำชองมากขึ้น กลายเป็นดราม่าของผู้คุมเกมราคาน้ำมันด้วยการสร้างอุปทานทั้งเทียมและจริงขึ้นมาเพื่อทำให้กลไกตลาดเคลื่อนไหวประหนึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ

เมื่อวานนี้ สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI และ Brent ที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นวันแรก หลังร่วงลงติดต่อกัน 4 วัน ได้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวร้ายที่กดดันตลาดไปรอบข้างนับแต่ ค่าดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ตามมาด้วย การผลิตน้ำมันของอิรักและอิหร่านแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังไม่มีความหวังเลยว่า โอเปกที่จะประชุมกันในสองสัปดาห์ข้างหน้าจะสามารถบรรลุข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตได้

ราคาที่วิ่งขึ้นไปตามการเก็งกำไรเช่นนี้ ด้านหนึ่งอาจจะเกิดจากสัญญาณทางเทคนิคของตลาดเก็งกำไรราคาน้ำมันตามปกติ แต่อีกด้านหนึ่งและอาจจะสำคัญที่สุดคือ มีคนควบคุมกลไกราคาน้ำมันอย่างแนบเนียนดูเป็นธรรมชาติไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นสูงเกินระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การควบคุมราคาอย่างแนบเนียนไร้รอยตะเข็บนี้ทำได้อย่างไร มีคำอธิบายน่าสนใจไม่น้อย ที่แม้ว่าจะได้เอ่ยถึงมาแล้วบางส่วน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพากันทบทวนข้อมูลกันอีกเพื่อเข้าใจว่า ราคาน้ำมันดิบของโลกเริ่มมีเสถียรภาพต่อเนื่องนานหลายเดือน หลังจากทะยานพ้นจากจุดราคาต่ำสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

หากมองย้อนกลับไปนับแต่ข้อเสนอตรึงปริมาณผลผลิตน้ำมันดิบจะเห็นได้ว่า ความพยายามจะดันราคาน้ำมันดิบให้พ้นจุดต่ำสุดในรอบ 7 ปีของชาติส่งออกน้ำมันใหญ่ ได้ทำกันประหนึ่งมีการเขียนบทอย่างลองผิดลองถูกที่มีความช่ำชองต่อเนื่อง

ข้อเสนอตรึงราคาผลผลิตน้ำมันที่ล้มเหลว ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันร่วงกลับไปสู่จุดต่ำสุดใหม่อีก แต่ได้เกิดกลไกขับเคลื่อนราคาต่อเนื่องขึ้น เสมือนเกิดขึ้นโดยบังเอิญ (ซึ่งบางครั้งก็เป็นจริงอย่างโชคช่วยเช่นกรณีไฟป่าในแคนาดาเร็วๆนี้) ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานในคูเวต หรือ การโจมตีของผู้ก่อการร้ายในไนจีเรีย หรือ  อื่นๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า บรรดาชาติผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกมีการสมคบคิดกันเขียนและเล่นบทเพื่อกำหนดราคาน้ำมันรอบใหม่ขึ้นมา ภายใต้หลักการ  “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อให้ราคาน้ำมันดิบมีกรอบการเคลื่อนไหวราคาที่ระดับ 45-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทำไมต้องเป็นราคาที่ 45 ดอลลาร์ที่เป็นราคาฐานต่ำสุดที่ยอมรับได้ คำตอบคือ เพื่อให้ชาติที่ขุดน้ำมันขึ้นมาส่งออกไม่ต้องขาดทุนจนเศรษฐกิจพังทลาย

ทำไมต้องเป็นราคา 50 ดอลลาร์เป็นเพดานสูงสุดของกรอบ คำตอบคือ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ และแคนาดา เร่งการเพิ่มผลผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนสูงกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเร็วเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้กลับไปสู่ช่วงเวลาของอุปทานล้นเกินระลอกใหม่

กรอบราคาที่มีเสถียรภาพนี้ มีส่วนช่วยให้ชาติส่งออกน้ำมันทั้งหลาย ที่พึ่งพารายได้ส่วนนี้เป็นงบประมาณของรัฐมหาศาล สามารถอยู่รอดและลดภาระทางการเงินการคลังลงไป

เครื่องมือหลักที่ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลในยามนี้จะเห็นได้ว่า มีการใช้ประโยชน์จากสงครามข่าวสารว่าด้วย ความพยายามของ ชาติผู้ผลิตน้ำมันส่งออกในการสร้างเสถียรภาพของตลาด

สงครามข่าวสารอาจสร้างกระแสให้ตลาดน้ำมันเข้าใจว่า อุปทานล้นเกินของตลาดนั้น กำลังจะหมดสิ้นไปในอีกไม่นาน เพราะมีส่วนช่วยให้บรรดาผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรทั้งหลายพากันออกแรงดันราคาน้ำมันในตลาดเก็งกำไรล่วงหน้าขึ้นไปสูงภายใต้กรอบจำกัด

ผลพลอยได้ที่ไม่คาดฝันมาก่อนคือ ราคาหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีทั่วโลกได้รับมุมมองทางบวกจากนักลงทุนทุกกลุ่ม และส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในภาพรวมโดยอ้อม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ คำเตือนสติของนักวิเคราะห์ที่ว่า ข้อตกลงตรึงผลผลิตน้ำมัน ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการประกาศหยุดยิงชั่วคราวของสงครามเท่านั้นเอง ได้ถูกเมินเฉยจากนักลงทุนในตลาดเก็งกำไร

ความพยายามสร้างเสถียรภาพให้ราคาน้ำมัน กลายเป็น “เหยื่อ” ชั้นยอดสำหรับการเก็งกำไร ที่ไม่มีใครปฏิเสธข่าวดีดังกล่าว แม้จะไม่ใช่ข่าวดีอย่างแท้จริงที่ทำให้ราคาน้ำมันกลับมาพุ่งแรงเป็นขาขึ้นระลอกใหม่จนถึงขั้นเป็นขาขึ้นอีกครั้งแบบในอดีต

เกมเล่นข่าวสร้างราคาน้ำมันดิบ กลายเป็นเกมที่มีต้นทุนต่ำกว่า การกระทำอย่างอื่น เช่น การพยุงราคาน้ำมัน หรือ การแทรกแซงตลาดด้วยทุนสำรอง หรือภาษีของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการสร้างสถานการณ์สงครามเทียมขึ้นมาเพื่อดึงราคาน้ำมัน อันเป็นเกมเก่าคร่ำคร่า ที่มีต้นทุนแพงลิ่ว และไม่อาจควบคุมผล ทำให้ผู้เล่นในเกมเหล่านี้พร้อมจะให้ความร่วมมือกันเสมือนมีการเขียนบทกำกับเอาไว้ดีเยี่ยม

ทฤษฎีเกมในการสร้างสงครามข่าวสารเพื่อหลอกล่อให้ตลาดอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ผลิตน้ำมันดิบ กำลังจะกลายเป็นสูตรของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองครั้งใหม่ของโลก

เกมนี้ เป็นเกมที่นักลงทุนในตลาดหุ้นควรจะต้องทบทวนและติดตามเพื่อจะได้รู้ทันมากยิ่งขึ้น ไม่กลายเป็นกระต่ายตื่นตูมที่พร้อมจะเป็นเหยื่อของสถานการณ์ผันผวนตลอดไป

Back to top button