วัดขนาดกระทิงพลวัต 2016

ปฏิกิริยาของนักลงทุนที่มีภายหลังจากความพยายาม “ย่อยเอ็นเหนียวหนึบ” ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯเมื่อวันศุกร์ ออกมาหลายด้านตามมุมมองเรื่องผลประโยชน์ในอนาคต


วิษณุ โชลิตกุล

 

ปฏิกิริยาของนักลงทุนที่มีภายหลังจากความพยายาม “ย่อยเอ็นเหนียวหนึบ” ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯเมื่อวันศุกร์ ออกมาหลายด้านตามมุมมองเรื่องผลประโยชน์ในอนาคต

ตลาดหุ้นโล่งอกว่าเดือนมิถุนายน ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯแน่นอน ส่วนเดือนกรกฎาคม ต้องไปลุ้นกันอีกทีหนึ่ง ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม 

พูดง่ายๆ คือ ภาวะกระทิงจะยังคงอยู่กับตลาดหุ้นไปอีกระยะหนึ่ง  ให้ดัชนีสำคัญอย่าง S&P500 ที่ห่างจากจุดสูงสุดเดิมที่ 2,160 จุดเมื่อปีก่อนแค่ 61 จุด ได้ลุ้นกันต่อ

ทางตรงกันข้าม ตลาดตราสารหนี้ไหวตัววูบวาบในเชิงลบทันที เพราะการบอกว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยยังไม่หายไปไหน ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น สวนทางราคาพันธบัตร เพราะมองว่าตลาดนี้มีความน่าสนใจลดลง สู้ตลาดหุ้นไม่ได้

เช่นเดียวกัน ราคาทองก็ร่วงทันทีเช่นกัน เพราะคาดว่าคนจะถือน้อยลง หันไปหาตลาดหุ้นแทน

สำหรับนักวิเคราะห์ระดับเซียนเรียกป๋าในวอลล์สตรีท ออกมาบอกเหมือนนัดกันว่า การขึ้นดอกเบี้ยเฟดฯจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะผ่านความชัดเจนใน4 ประเด็นที่รบกวนใจกรรมการเสียก่อนได้แก่ 1) การลงประชามติที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ 2) ความชัดเจนในเรื่องเศรษฐกิจจีนในการปรับดุลยภาพว่าจะฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะเรื่องปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจ 3) ความชัดเจนในเรื่องของหนี้สินสาธารณะของกรีซ 4) โดนัล ทรัมพ์ จะได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการหรือไม่ 

ความชัดเจนทั้ง 4 เรื่องนี้ จะเห็นว่าไม่มีเรื่องราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์แต่อย่างใด

ประเด็นกังวลทั้ง 4 เรื่องของเฟดฯ มีบางเรื่องชัดเจนไปแล้วคือเรื่องกรีซ ส่วนอีกสามเรื่องจะชัดเจนในต้นเดือนกรกฎาคม ดังนั้นความเป็นไปได้มากสุดคือเฟดฯอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ไม่มีก่อนหน้านี้แน่นอน

การส่งสัญญาณและการตีความเชิงบวกต่อตลาดหุ้น ผสมกับตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯที่โตขึ้นไม่มากนักที่ประกาศในวันศุกร์ ก่อนหยุดยาว 3 วันจนถึงต้นสัปดาห์นี้ ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ผันผวนลบสลับบวกตลอดการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ผ่านมา มีความมั่นใจจนทำให้แรงซื้อท้ายตลาดดันดาวโจนส์ไปปิดที่สูงสุดของวัน และ ดัชนีอื่น เช่น S&P500 และแนสแดก ก็ปิดบวกเช่นกัน 

วันนี้ แม้จะไม่มีสัญญาณจากนิวยอร์ก แต่บรรยากาศที่เอื้อต่อตลาดขาขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกไปด้วย ท่ามกลางคำถามว่าจะวิ่งขึ้นเป็นภาวะกระทิงเล็กหรือใหญ่

ด้านหนึ่งการไม่ขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯในเดือนมิถุนายน อาจจะทำให้ดอลลาร์ที่อาจะอ่อนตัวลง มีน้อยลง หรือทรงตัว เนื่องจากทุนเก็งกำไรที่คาดว่าอาจจะไหลออกจากสหรัฐฯไปที่อื่นตลอดเดือนมิถุนายน และต้นเดือนกรกฎาคม อาจจะไม่มากเท่าที่ควร

เหตุผลสำคัญคือ ค่าดอลลาร์จะแกว่งในลักษณะไซด์เวย์อัพ มากกว่าขึ้นลงแรงๆ

ที่สำคัญผลพวงเกี่ยวเนื่องสำคัญ ยังตามมา เพราะว่า การที่เฟดฯจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ถือเป็นข่าวดีสำหรับราคาน้ำมันด้วย ตัวอย่างการวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบเบรนท์เมื่อคืนวันศุกร์ หลังจากความผันผวนระหว่างวัน แล้วปิดเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นข่าวดีก่อนประชุมกลางปีชาติสมาชิกโอเปกสัปดาห์นี้ 

ดูจากทิศทางของราคาน้ำมันในรอบเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า เสถียรภาพของตลาดน้ำมันเริ่มกลับมาชัดเจน ที่ระดับราคาใกล้เคียงกับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะพอใจกันทุกฝ่ายที่เป็นชาติส่งออกและนำเข้า จะมีไม่พอใจก็เฉพาะกลุ่มบริษัทผู้ขุดเจาะในสหรัฐฯเท่านั้น 

สำหรับญี่ปุ่น ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิขของรัฐบาลอาเบะ ยังดำเนินต่อไป เพื่อฉุดลากให้พ้นจากภาวะเงินฝืดให้ได้ ข่าวล่าสุดที่ยังไม่เป็นทางการคือมาตรการอัดฉีดเงินงบประมาณพิเศษอีก 9.07 หมื่นล้าน ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึง โดยไม่ได้เอ่ยถึงการขึ้นภาษีการขายอีก ถือเป็นแรงส่งสำคัญระยะสั้นสำหรับตลาดหุ้นโตเกียวในสัปดาห์นี้แน่นอน ไม่มากก็น้อย

สำหรับตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ที่ทางการจีนเลิกแทรกแซงเต็มตัวเหมือนปีก่อน ดูเหมือนว่าจะเริ่มปรับทิศทางได้ดีขึ้นที่ระดับเหนือแนวรับ 2,800 จุด จนดูแนวโน้มชัดเจนว่าจะไม่ลงต่ำกว่าจุดดังกล่าวแน่นอน รอแค่เพียงข่าวดี ที่จะทำให้ดัชนีกลับมาเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อใด แต่คาดว่าจะไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้

ภาวะกระทิงรอบนี้ ยังต้องการข้อมูลสนับสนุนเพื่อจะไม่ทำให้เป็นแค่กระทิงเล็กที่ป้องกันตัวเองไม่ได้ แต่เป็นกระทิงใหญ่เต็มตัว

Back to top button