ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคพลวัต 2016

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งตามปกติ มักจะ “โปรทหาร” มาตลอด เริ่มมีน้ำเสียงที่เหมาะสำหรับจะนำตัวผู้บริหาร “ปรับความเข้าใจ” กับกองทหารอย่างยิ่ง เพราะ หลายเดือนมาแล้วที่ออกตัวเลขมาทำลายความเชื่อมั่น (หรือภาษานายกรัฐมนตีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเรียกว่า “บ่อนทำลาย” ได้ง่ายๆ)


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งตามปกติ มักจะ “โปรทหาร” มาตลอด  เริ่มมีน้ำเสียงที่เหมาะสำหรับจะนำตัวผู้บริหาร “ปรับความเข้าใจ” กับกองทหารอย่างยิ่ง เพราะ หลายเดือนมาแล้วที่ออกตัวเลขมาทำลายความเชื่อมั่น (หรือภาษานายกรัฐมนตีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเรียกว่า “บ่อนทำลาย” ได้ง่ายๆ)

ตัวเลขล่าสุดที่ศูนย์ดังกล่าวประกาศออกมาวานนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะบอกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 72.6 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.1 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 67.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.0

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ปรับตัวลดลง มีคำอธิบายว่าเกิดจากปัจจัยลบ คือ 1) การส่งออกในเดือนเมษายน ลดลง 8%  2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 3) ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก 4) ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง และ 5) ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ

ขณะที่ปัจจัยบวก มาจากการที่ 1)  สภาพัฒน์ยังคาดการณ์ GDP ปี 59 ไว้เท่าเดิมที่ 3.3% แต่ปรับกรอบให้แคบลงมาเหลือ 3-3.5% 2) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% 3)  ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น 4) เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย, 5) ความคาดหวังของประชาชนที่ว่ารัฐบาลเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

คำถามเบื้องต้นคือ ดัชนีบริโภคมีความสำคัญอย่างไร และมีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร เป็นสิ่งที่คนที่ได้รับทราบแล้ว เกิดจินตนาการทางลบหรือบวกมากน้อยเท่าใด

ในชั้นแรกสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) เป็นตัวเลขเชิงคุณภาพที่ใช้วัด “อารมณ์ร่วมของผู้บริโภค” ที่ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นข้อมูลที่ประมวลผลจากความรู้สึกและความรู้ของคนอันหลากหลายในสังคม ด้วยวิธีการเชิงสถิติที่เชื่อมั่นมากพอสมควรว่า สามารถส่งสัญญาณสำคัญด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ชัดเจน

ไม่ใช่เพียงแค่การเอาไมโครโฟนจ่อปากคนไม่กี่คนที่เลือกมาแล้ว แล้วเอามาบอกเล่าแบบสรุปเอาเองแบบสื่อบันเทิงหลายสำนักในเมืองไทย ที่เสมือนหนึ่งคำพูดของบางคน เป็นสัจธรรมสัมบูรณ์ของชาวบ้านทั่วไปทั้งหมด   

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวชี้นำหรือ indicator ตัวหนึ่งในหลายๆ ตัวที่บอกสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่สะท้อนคืออารมณ์ร่วมของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการหรือนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจใกล้ตัว ที่ตนเผชิญอยู่ ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดมาตรการทางการคลัง หรือการเงิน จะเกิดการสูญเปล่า หรือ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 โดยหลักเศรษฐกิจเสรีนิยมแล้ว ถ้าประชาชนหรือนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลหรือระบบเศรษฐกิจ เพราะขาดความเชื่อมั่นว่า การนำของรัฐบาลจะพาไปสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคต หรือมีแต่ความสุ่มเสี่ยง เงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าไปจะไร้ผล เงินในระบบจะไม่หมุนเวียน เนื่องจากคนจะลดการใช้จ่ายและชะลอการลดทุน ในทางกลับกันถ้าประชาชนมีความเชื่อมั่นที่ดีแล้วเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้ามาก็จะเกิดผล เพราะคนจะนำเงินที่ได้มาไปใช้จ่ายและลงทุน เงินในระบบก็จะเกิดการหมุนเวียนซ้ำไปซ้ำมา สร้างรายได้ การจ้างงาน และสิ่งอื่นๆ ตามมาอีกอย่างมากมาย

เป็นที่ยอมรับกันว่า การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่ใช่สิ่งที่จะมาบังคับกันได้ แต่ขึ้นอยู่กับผลงานในการบริหารนโยบายที่แจ่มชัดและมีทิศทางที่สอดรับกับกระแสของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ควบคุมไม่ได้

ถ้ารัฐบาลมีการบริหารงานที่ดี (ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อของรัฐที่ลุแก่อำนาจ ห้ามประชาชนเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์) แล้วสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมั่นใจในตัวรัฐบาลว่าจะนำพาให้ประเทศชาติไปรอดพ้นจากวิกฤติต่างๆ ในระยะสั้น เพราะการใช้เครื่องมือทางการคลังของรัฐบาล จะมีผลเชิงบวกจริงจัง โดยไม่ต้องกล่าวหาประชาชนว่าไม่ให้ความร่วมมือ

ในประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่จะหดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเงาตามตัว ทั้งที่รัฐได้ใช้ทั้งมาตรการสารพัดเพื่ออัดฉีดเงินไปเป็นจำนวนมากเข้าสู่ระบบ  ก็ยังไม่เป็นผล เพราะเงินที่อัดฉีดเข้าไปแล้วนั้นมันไม่เกิดการหมุนเวียน

รากฐานของความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภค ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เกิดจากหลายสาเหตุผสมผสานกัน  โจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาลทุกประเทศอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น

กรณีของไทย มีการพูดมากมายว่า จะต้องลดการพึ่งพาการส่งออกที่เคยเห็นหัวขบวนขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประเทศ มาสู่การกระตุ้นการบริโภคในประเทศแทน แต่เมื่อรัฐบาลบางคณะกระทำ ก็จะมีคำกล่าวหาทางการเมืองตามมาว่า จะทำให้ประเทศพังพินาศเพราะทำให้เกิดลัทธิบริโภคนิยม ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอาจจะนำประเทศไปสู่หายนะ

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ นโยบายรัฐบาลพยายามหลบเลี่ยง ทำการกระตุ้นการบริโภคในประเทศอย่างกระมิดกระเมี้ยน เพราะเกรงข้อกล่าวหา “ประชานิยม” ที่น่ารังเกียจ ผลลัพธ์คือการทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างรุนแรง เพราะแนวทางของรัฐบาลขัดแย้งตัวเอง เนื่องจากด้านหนึ่งต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตจากภายใน แต่ไม่มีการบริโภคเข้ามากระตุ้นเสริมให้มีการหมุนเวียนของสินค้าและบริการที่สอดรับกัน

 ล่าสุด กรณีที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินเศรษฐกิจไทยว่า ฟื้นตัวช้า และ มีความเสี่ยงทางด้านต่ำอยู่ พร้อมกับแนะนำให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนปรน รวมทั้งใช้มาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน และดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจควบคู่กันไป ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทรุดตัวต่อเนื่องคือสิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไข

ลำพังคำพูดของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ว่า  “…พบสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว…” ได้กลายเป็นตลกรายเดือนที่ไร้ความหมายไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว

X
Back to top button