ขวัญใจ…คนเดิมแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ไม่รู้ว่ากินยาผิดซอง หรือ...กลัวผู้ถือหุ้นจะไม่จงรักภักดี....คณะกรรมการบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS จึงได้ออกมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทจากกำไรสะสมสิ้นไตรมาสแรกอีกหุ้นละ 0.15 บาท


ไม่รู้ว่ากินยาผิดซอง หรือ…กลัวผู้ถือหุ้นจะไม่จงรักภักดี….คณะกรรมการบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS จึงได้ออกมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทจากกำไรสะสมสิ้นไตรมาสแรกอีกหุ้นละ 0.15 บาท

เป็นโบนัสพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นที่เซอร์ไพรส์…อย่างยิ่งยวด และเหนือความคาดหมาย

เมื่อวานนี้ นายพิชญ์ โพธารามิก ซีอีโอ และกรรมการผู้จัดการ JAS เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทจากกำไรสะสม ณ วันที่ 31 มี.ค. 2559 ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญจำนวน 5,933,530,653 หุ้น (หักหุ้นซื้อคืนจำนวน 1,200 ล้านหุ้น) ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท รวมจ่ายเงินปันผลทั้งสิ้นจำนวน 890,029,597 บาท

โดยทางบริษัทกำหนดวันขึ้นเครื่องหมาย XD (ไม่ได้รับสิทธิปันผล) ภายในวันที่ 4 ก.ค. 2559 ซึ่งทางบริษัทจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.15 บาท โดยจ่ายปันผลจากกำไรสะสม กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) 6 ก.ค. 2559 และกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล ตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ช่วงวันที่ 7 ก.ค. 2559 และจ่ายปันผลภายในวันที่ 20 ก.ค. 2559

การจ่ายปันผลครั้งนี้ หากนับการจ่ายเงินปันผลสิ้นงวดปี 2558 หุ้นละ 0.30 บาท ด้วยวงเงินรวมประมาณ 2.1 พันล้านบาท และการซื้อหุ้นคืนอีก 6 พันล้านบาท ด้วยราคาหุ้นละ 5.00 บาท ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป จะพบว่า ภายในเวลา 4 เดือนนี้ JAS ได้ใช้กำไรสะสมมากถึง 9 พันล้านบาทเพื่อกระจายให้กับผู้ถือหุ้น

นี่ยังไม่นับกรณีที่ราคาหุ้น JAS ที่ได้รับผลบวกโดยตรงต่อผู้ถือหุ้นที่ราคาหุ้นจะยืนสูงต่อไปได้อีกต่อเนื่อง ได้กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ถืออยู่กับตอนที่เริ่มต้นซื้อมา

เกมของ JAS เช่นนี้ นักวิเคราะห์พากันเงียบกริบ…อ้าปากค้าง เพราะทุกอย่างไม่ได้มีการคาดเดาไว้เลย

อาจจะมีบางคนบอกว่านี่คือ ความบ้าคลั่งของกรรมการ JAS ที่ทำการล้างผลาญเงินกำไรสะสมของบริษัทอย่างไร้ค่า แทนที่จะนำไปก่อเกิดประโยชน์สร้างรายได้และกำไรในอนาคต ..เพียงเพื่อรักษาราคาหุ้นให้สูงกว่าจริงเท่านั้น

มุมมองสรุปข้างต้น อาจจะไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว…เพราะไม่เข้าใจทฤษฎีของราคาหุ้นที่ อัลเฟรด แรพพาพอร์ต นำเสนอเอาไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1986 หรือ พ.ศ. 2529 จนเป็นตำราคลาสสิกในทฤษฎีหุ้นที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายต้องรู้จัก …

ใครไม่รู้ ไม่ควรเป็นนักวิเคราะห์หุ้น

นั่นคือshareholder value model  หรือ shareholder value maximization ซึ่งมีสาระสำคัญหลัก 2 นัย ได้แก่

–      หลักคิดว่า เป้าหมายหลักขององค์กรธุรกิจทุกแห่งที่มากกว่าการทำกำไรคือ การเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น (ซึ่งก็คือเจ้าของกิจการร่วม) ในรูปของเงินปันผล หรือราคาคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น

–      หลักคิดว่า การกระทำใดๆ ที่มีเป้าหมายตั้งไว้โดยฝ่ายบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นให้เหนือกว่าต้นทุนของเงินทุนที่นำมาร่วมลงทุนด้วย ยึดหลักการว่า เงินของผู้ถือหุ้นจะต้องถูกนำไปสร้างผลตอบแทน ที่มากกว่าการนำเงินไปลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยงอื่นๆ

 ว่ากันตามเนื้อผ้าของธุรกิจในระบบทุนนิยม (ซึ่งยึดถืออย่างแข็งขันโดย แจ็ค เวลช์ แห่งกลุ่ม GE ที่โด่งดังอย่างมาก) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจประสบผลสำเร็จแล้วมีผลกำไร สามารถนำกำไรไปใช้ในหลายวิธี ที่ทุกวิธีถือว่าดีทั้งหมด ได้แก่ 1) ลงทุนต่อในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินงาน  2)ใช้ในการซื้อหลักทรัพย์  3)ใช้ไถ่ถอนหนี้สิน  4) กระจายเป็นผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในรูปซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายปันผล (ทั้งปกติ หรือพิเศษ) หรือ การแตกหุ้น

เกณฑ์ทั่วไปเปิดกว้างเอาไว้เช่นนี้ …มีหรือที่จะปิดทางเลือกแบบคับแคบสไตล์คนหัวสี่เหลี่ยม และหน้าเหลี่ยม

แรพพาพอร์ต ก็สรุปว่าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศหรือของโลกไม่สดใส การลงทุนไปข้างหน้ามีความเสี่ยงสูงมาก แต่บริษัทที่มีกระแสเงินสดหรือมีกำไรสะสมสูงเกินกว่าความจำเป็นในระยะเฉพาะหน้า หรือระยะกลางแล้ว การมี Free Cashflow ที่ปราศจากดอกเบี้ยไว้เฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับกิจการแม้แต่น้อย แต่เป็นภาระมากกว่า การทำให้กระแสเงินสดเหลือกลายเป็นมูลค่าผู้ถือหุ้น จึงเป็นภารกิจ “ต้องกระทำ” สำหรับผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัท          

เป็นไปตามหลักการ “Where Cash Flow Increases Value”

ใครว่าไม่ดี… ให้ไปเถียงกับแรพพาพอร์ตในนรกกันเอาเอง…อิ อิ อิ

ถ้าหากนำเอากรอบคิดเรื่อง shareholder value model  มาทาบกับการกระทำของ JAS ในเรื่องมูลค่าผู้ถือหุ้น ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่า เดินตามเส้นทางของโมเดลแรพพาพอร์ตทุกกระเบียดนิ้ว เพราะการซื้อหุ้นคืน (เพื่อเอาไปลดทุนหรือเอาไปถมทะเล) และการจ่ายปันผลพิเศษที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ล้วนมีส่วนทำให้ P/E หรือ P/BV ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามจังหวะเวลา แต่ทำให้ EPS  BV และ อัตรากำไรสุทธิ สูงขึ้นทั้งนั้น

ที่สำคัญ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า การที่มูลค่าซื้อขายหุ้นของ JAS จึงได้ติดอันดับ 15Most Active ต่อเนื่องในระยะหลายปีมานี้ ไม่เคยขาด เป็นหุ้นพิมพ์นิยมที่ทำให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือ stakeholders เกิดสภาพ วิน-วิน กันทั่วหน้า

ว่ากันตามนี้ ใครที่คิดว่าเสี่ยพิชญ์ โพธารามิก และกรรมการ JAS เป็นบ้าไปแล้ว…หากไม่คิดใหม่ อาจจะได้ชื่อว่า …บ้ากว่า…ใครจะรู้

Back to top button