พาราสาวะถี

ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลคสช.โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง เพื่อเป็นการการันตีว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป คือ ประชาชนได้หย่อนบัตรเลือกผู้แทนภายในปี 2561 แต่กลับไม่มีใครคิดหรือให้ความสำคัญว่า กระบวนการที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้งนั้นเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่


อรชุน

ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลคสช.โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง เพื่อเป็นการการันตีว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป คือ ประชาชนได้หย่อนบัตรเลือกผู้แทนภายในปี 2561 แต่กลับไม่มีใครคิดหรือให้ความสำคัญว่า กระบวนการที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้งนั้นเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่

แม้ว่าผู้มีอำนาจจะยืนยันมาโดยตลอดว่า จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย แต่เมื่อเราอยู่ในประชาคมโลกจะทำตัวให้หลุดกรอบนี้ไปแบบหลุดโลกเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีก็คงไม่ใช่ ขณะเดียวกันต้องถามว่ามีใครรู้หรือไม่ 15 กันยายนที่ผ่านไปมีความสำคัญต่อคำว่าประชาธิปไตยอย่างไร จำนวนไม่น้อยน่าจะไม่รู้

ทั้งๆ ที่วันดังกล่าวคือ วันประชาธิปไตยสากล หรือ International Day of Democracy ของสหประชาชาติ และในโอกาสดังกล่าว โชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความรำลึกถึงวันดังกล่าวในหัวข้อ สากลนิยมของประชาธิปไตย และหลักการประชาธิปไตยสากล

ทั้งนี้ ขอยกเอาแค่บางช่วงบางตอนที่จะเกี่ยวข้องกับทางเดินของประชาธิปไตยในบ้านเรามาเล่าสู่กันฟัง กล่าวสำหรับสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์การกลางของรัฐบาลทั่วโลกและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดมา เมื่อปี 2007 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยสากล โดยในคำอารัมภบทของมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวมีเนื้อหาที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า

ในขณะที่ประชาธิปไตยมีคุณลักษณะร่วม โดยความเป็นประชาธิปไตยมิได้มีรูปแบบเดียว และประชาธิปไตยก็มิได้เป็นเจ้าของโดยประเทศหรือภูมิภาคใดๆ ประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากล หรือ Universal value ที่ตั้งอยู่บนการแสดงออกได้อย่างเสรีถึงเจตจำนงของประชาชน เพื่อกำหนดชะตากรรมของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของตัวเอง และต่อการมีส่วนร่วมของพวกเขาอย่างเต็มที่ในทุกด้านของชีวิต

ขณะที่หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังมีการกล่าวถึงโดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ประชาธิปไตย คือ การปกครองที่อำนาจและความรับผิดชอบของพลเมืองถูกใช้โดยประชาชนทุกคน ในทางตรงหรือผ่านทางผู้แทนราษฎรของตนที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี ประชาธิปไตยคือชุดของหลักการ และวิธีปฏิบัติที่ปกป้องเสรีภาพของมนุษย์ ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นสถาบันของเสรีภาพ

ประชาธิปไตยวางอยู่บนหลักการของการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ควบคู่กับการยอมรับสิทธิส่วนบุคคลและเสียงส่วนน้อย ระบอบประชาธิปไตยทั้งปวงนั้น ในขณะที่เคารพเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ปกป้องอย่างแข็งขันต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและกลุ่มคนเสียงข้างน้อย รัฐประชาธิปไตยโต้ตอบต่ออำนาจทั้งหมดและล้นเหลือของรัฐบาลกลาง และทำให้มีการกระจายอำนาจของรัฐบาลไปในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ด้วยการตระหนักรู้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะต้องเป็นรัฐบาลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อประชาชนเท่าที่เป็นไปได้

ประชาธิปไตยตระหนักรู้ว่า หนึ่งในหน้าที่หลักของประชาธิปไตยคือการปกป้องต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการพูด และการนับถือศาสนา สิทธิที่ประชาชนจะได้รับในการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และโอกาสที่จะรวมตัว และเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประชาชนในสังคม

รัฐประชาธิปไตยย่อมจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมที่เปิดกว้างทั่วถึงแก่ประชาชนทุกคนอย่างสม่ำเสมอ การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นไปได้ภายใต้การครอบงำของเผด็จการหรือพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แต่มีผู้ที่แข่งขันกันอย่างเป็นจริงเพื่อขอรับการสนับสนุนของประชาชน

นั่นเป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมด 10 ประการ เช่นเดียวกับสมาคมเพื่อความเป็นหุ้นส่วนแห่งยุโรป ที่ได้เสนอหลักการพื้นฐานแห่งประชาธิปไตยที่แข็งขัน สำหรับสมาชิกสหภาพยุโรปอันถือได้ว่าเป็นหลักการสากลชุดหนึ่ง 13 ประการ แต่พบว่า ในเมืองไทย กลับสนใจเน้นกันหรือนิยมอ้างถึงกันห้าประการ คือ หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักกฎหมายและหลักเสียงข้างมากที่เคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อย

แต่ในฐานะที่อยู่ในสังคมโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องร่วมกระแสสากลนิยมประชาธิปไตย และอาศัยหลักการประชาธิปไตยสากลมาสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศให้สำเร็จ นอกจากนี้ในฐานะที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีทั้งรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อม โดยรูปแบบประชาธิปไตยทางอ้อมคือ การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยหรือผ่านตัวแทนของตนในนามสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกกฎหมาย และเพื่อบริหารประเทศในนามรัฐบาล

แต่ก็มิใช่ทั้งหมดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ประชาชนยังสามารถใช้รูปแบบประชาธิปไตยทางตรงได้อีก อันเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองเสริมรูปแบบทางตรง เนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎร อาจมิได้ครบถ้วนสมบูรณ์พอตามที่ประชาชนคาดหวัง ในระยะหลังๆ ประเทศต่างๆ จึงสนใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนมากขึ้น

ประเทศใดก็ตามที่ทำให้การเมืองทางอ้อมคือภาคผู้แทนราษฎร และการเมืองทางตรงคือภาคประชาชนแสดงออกโดยตรง เกื้อกูลต่อกันอย่างลงตัวแล้ว ประเทศนั้นก็จะเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศที่การเมืองสองภาคเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ดังประการหลังอนิจจาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา น่าเศร้าหรือไม่เป็นเรื่องที่ผู้มีหัวใจประชาธิปไตยและเป็นธรรม น่าจะเข้าใจกันได้

Back to top button