บทเรียนบ้านพักศาล

คนเชียงใหม่คัดค้านบ้านพักศาลเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เป็นสิครับ แต่ไม่ใช่การเมืองเรื่องเสื้อสี อย่างที่บางคนพยายามป้ายสี


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

คนเชียงใหม่คัดค้านบ้านพักศาลเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เป็นสิครับ แต่ไม่ใช่การเมืองเรื่องเสื้อสี อย่างที่บางคนพยายามป้ายสี

มิตรสหายท่านหนึ่งเทียบขำ ๆ ว่าคนไม่เอา “หมู่บ้านป่าแหว่ง” มีทุกสี แต่คนด่าฝ่ายคัดค้านมีหลากสี นั่นคือ “สลิ่ม” ผู้การศึกษาสูงแต่สมองพิการ คิดแต่ว่าคนเชียงใหม่เป็นพวกทักษิณจ้องล้มศาลล้มรัฐบาล

ไม่รู้หรือไงว่าคนเชียงใหม่คัดค้านการใช้พื้นที่ดอยสุเทพในทางที่ไม่เหมาะสม มาตั้งแต่สมัยจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าปี 2529 รัฐบาลทักษิณปี 2548 จะสร้างไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก กระเช้าไฟฟ้า อุทยานช้าง สวนสนุก ก็โดนค้าน แม้ 2 โครงการแรกขวางไม่สำเร็จ แต่ที่เหลือต้องระงับไป ส่วนบ้านพักศาลทำไมเพิ่งค้าน เขาค้านมาตั้งแต่ปี 2558 ไม่มีใครฟัง จนคนทั้งประเทศเห็นภาพถ่ายทางอากาศ “ป่าแหว่ง” เห็นบ้านพักสวยงาม จึงเกิดกระแสลุกลามใหญ่โต

บ้านพักศาลเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง เป็นเรื่องสำนึกของประชาชน ที่รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ ขัดแย้งกับรัฐและส่วนราชการ ที่คิดว่าตนมีอำนาจจัดการดูแล ใช้สอย ตามระเบียบกฎหมาย โดยไม่ต้องถามชาวบ้าน

ความขัดแย้งเช่นนี้เราเห็นได้ทั่วไป ในโครงการต่าง ๆ เขื่อน โรงไฟฟ้า แต่ครั้งนี้คือดอยสุเทพ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่ แถมยังผนวกกระแสรักษ์ป่า ที่คนจังหวัดอื่นภาคอื่นเมื่อเห็นภาพถ่ายทางอากาศก็รู้ว่าไม่เหมาะสม ถึงแม้ภาครัฐยืนยันว่าถูกกฎหมาย

ถูกกฎหมายแต่ถางป่า นี่ก็เป็นประเด็นเสียดแทงใจ เพราะคนยากคนจนทำมาหากินในเขตป่าเสื่อมโทรม หรือถูกประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน ล้วนถูกจับกุมคุมขัง ตามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” และถูกศาลตัดสินจำคุกไปจำนวนมาก

ซึ่งไม่ใช่รักษาป่าได้ เพราะกฎหมายมีปัญหา เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจล้น การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นธรรม แต่ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ (ข้อนี้กระแสรักษ์ป่าควรเข้าใจเช่นกัน ว่ายิ่งส่งเสริมอำนาจเจ้าหน้าที่ ยิ่งอาจทำให้ชาวบ้านตาดำ ๆ ประสบชะตากรรม)

บ้านพักศาลจึงเป็นเรื่องการเมืองภาคพลเมืองโดยพื้นฐาน ไม่สำคัญว่าเป็นบ้านพักหน่วยงานไหน โครงการนี้ดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม จึงไม่ใช่อำนาจตุลาการ แต่ก็มีคำถามซ้อนทับเช่นกันว่า ถ้าเป็นหน่วยราชการอื่น จะกล้า ๆ สร้างอย่างนี้ไหม

ข้อนี้ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองเช่นกัน แต่ไม่ใช่ใครจ้องล้มศาล เพราะไม่มีใครสร้างบ้านให้ สังคมไทยเคารพยกย่องพร้อมทั้งเกรงกลัวอำนาจตุลาการ ไม่ค่อยมีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอาจละเมิดอำนาจศาลติดคุกได้

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทักท้วงตั้งแต่แรกเสียงไม่ดัง จนกระทั่งอารมณ์สังคมระเบิดตูม ก็กลายเป็นเรื่องบานปลาย ซึ่งพอกระแสจุดติด ฝ่ายตุลาการพูดอะไรแม้ไม่ตั้งใจ ก็ผิดหูชาวบ้าน เป็นบทเรียนอีกชั้นว่าท่านเคยแต่นั่งบนบัลลังก์ ไม่เข้าใจภาวะของคนที่ตกเป็นจำเลย โดยเฉพาะเมื่อเป็นจำเลยสังคมโดยไม่รู้ตัว

ในแง่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยังไงรัฐบาลกับศาลก็ต้องร่วมกันหาทางลง เพราะขนาดเพจไทยคู่ฟ้าเปิดให้แสดงความเห็น ยังมีคนแห่ไปเมนท์ล้นหลาม

แต่ถ้ามองการณ์ให้ไกล ไม่ว่าอำนาจฝ่ายไหนก็ต้องตระหนัก เก็บรับบทเรียน ทั้งเรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน เคารพสิทธิสาธารณะ รวมทั้งรับรู้ไว้เถิดว่า ประชาชนกำลังไม่พึงพอใจทุกอำนาจ ทุกกลุ่มอภิสิทธิ์ชน และจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พลาดไม่ได้เชียว

Back to top button