IRPC เด้งกว่า 3% คาดนลท.มั่นใจธุรกิจโต ลุ้น Q2 กำไรแจ่ม โบรกฯ แนะซื้อเป้า 9.60 บ.

IRPC เด้งกว่า 3% คาดนลท.มั่นใจธุรกิจโต ลุ้น Q2 กำไรแจ่ม โบรกฯ แนะซื้อเป้า 9.60 บ. ล่าสุด ณ เวลา 11.05 น. อยู่ที่ 6.55 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 3.15% สูงสุดที่ 6.55 บาท ต่ำสุดที่ 6.35 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 485.92 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ล่าสุด ณ เวลา 11.05 น. อยู่ที่ 6.55 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 3.15% สูงสุดที่ 6.55 บาท ต่ำสุดที่ 6.35 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 485.92 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้น IRPC ปรับตัวขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 6.95 บาท เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2561

ทั้งนี้ นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันในไตรมาส 2/2561 จะใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่อยู่ระดับ 14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

โดยถึงแม้ค่าการกลั่น (GRM) จะอ่อนตัวลง แต่สเปรดของปิโตรเคมียังอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพหลายด้าน โดยเฉพาะการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีกจำนวน 3 แสนตันต่อปี เข้าช่วยสนับสนุนและได้ประโยชน์จากโครงการ Everest forever ซึ่งสานต่อโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรทุกด้าน

ขณะเดียวกันในไตรมาส 2/2561 บริษัทจะมีโอกาสได้รับกำไรจากสต๊อกน้ำมัน เพราะถึงแม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลงในช่วงนี้ แต่ราคายังคงยืนอยู่ในระดับสูง 74-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกที่ราคาน้ำมันปิดที่ระดับ 62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ส่วนความคืบหน้าในการเจรจาซื้อหรือร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของบริษัท ล่าสุดอยู่ในระหว่างการเจรจา 2-3 ราย คาดว่าจะสรุปดีลได้อย่างน้อย 1 ราย ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 จะเป็นการร่วมลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศ เน้นธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกหรือการนำเม็ดพลาสติกไปใช้

โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่รถยนต์รุ่นใหม่จะเน้นการประหยัดพลังงาน ทำให้ผู้ประกอบการหันมาลดชิ้นส่วนที่เป็นโลหะโดยใช้ชิ้นส่วนพลาสติกมาทดแทนมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก

ขณะที่ทางบริษัทยังมีการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด UHMWPE (Ultra high molecular weight Polyethylene) มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรง น้ำหนักเบา จึงสามารถนำไปผลิตแทนโลหะได้ โดยเฉพาะในส่วนของกล่องแบตเตอรี่รถยนต์ ทำให้บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกเป็น 12,000 ตันต่อปีในอนาคต จากปัจจุบันระดับ 8,000 ตันต่อปี

ส่วนความคืบหน้าการขยายกำลังการผลิตโรงงานโอเลฟินส์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 50% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าโครงการหรือไม่ และบริษัทยังเดินหน้าโครงการภายใต้โปรแกรม MARS ซึ่งเป็นการลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ขนาด 1.3 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น พาราไซลีน 1 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 3 แสนตันต่อปี ซึ่งการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงการ (Front End Engineering Design Process : FEED) จะแล้วเสร็จปี 2561 และหาผู้รับเหมาได้ในกลางปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง และแล้วเสร็จในปี 2565

ส่วนเม็ดเงินลงทุนรองรับในอนาคต ปัจจุบันมีศักยภาพลงทุนในช่วง 5 ปีได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะมาจากเงินสดจากการดำเนินงาน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีศักยภาพในการกู้เงินอีก 1 หมื่นล้านบาท/ปี เนื่องจากมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ระดับ 0.56 เท่า

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น IRPC ให้ราคาเป้าหมาย 9.60 บาท โดยคาดกำไรสุทธิของ IRPC จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2561 หลังจากมาร์จิ้นที่ดีขึ้นและปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ PPC และ UHV

ทั้งนี้ จากการสำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้น IRPC ล่าสุดในวานนี้ (5 มิ.ย. 2561) ได้ทำราคาต่ำสุดของวันที่ 6.25 บาท ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 7 เดือน และทำราคาปิดตลาดที่ 6.35 บาท ปรับลดลง 0.15 บาท หรือคิดเป็นลดลง 2.31% เมื่อเทียบราคาปิดก่อนหน้า โดยมีปัจจัยกดดันมาจากกรณีค่าการกลั่นสิงคโปร์ล่าสุดได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากภาพรวมตลาดอยู่ในระหว่างการจับตารอผลประชุมของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกในช่วงวันที่ 22 มิ.ย.นี้ โดยจะมีมาตรการปรับเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ จึงกลายเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสล่าสุดปรับตัวลงมาอยู่ที่ 64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์อยู่ในระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับ 74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

Back to top button