SME Bank ผ่อนเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูกติดปีก SME

SME Bank ผ่อนเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูกติดปีก SME


นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยจำนวนมากในอุตสาหกรรมสุขภาพยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ถูกต้องตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหมาย อย. GMP และ HACCP เป็นต้น เนื่องจากขาดเงินทุนกับความรู้ ทำให้เสียโอกาสการขยายตลาดให้กว้างไกล บางรายต้องถูกสั่งปิดโรงงานหรือสถานประกอบการ เพราะการผลิตขัดกับกฎหมาย

ดังนั้น ธพว. จึงได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ช่วยกันยกระดับเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมสุขภาพให้สามารถเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่คัดกรอกผู้ประกอบการที่ต้องการขอใบอนุญาตมาตรฐานต่างๆ แต่ขาดเงินทุนส่งต่อมาให้ ธพว. เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูก 1% และ 3% ซึ่งจะผ่อนเกณฑ์การพิจารณาพิเศษ

โดยให้เงินทุนล่วงหน้า ตั้งแต่ยังไม่มีใบอนุญาตครบถ้วน เพื่อให้มีเงินทุนนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงโรงงาน สถานที่ผลิต บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ จนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสำเร็จควบคู่กับ 3 หน่วยงานร่วมกันจัดกิจกรรมอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านสุขภาพซึ่งจะเป็นแนวทางให้สามารถเข้าสู่มาตรฐานได้และมีศักยภาพธุรกิจสูงขึ้น สามารถดำเนินกิจการอยู่รอด เติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ธนาคารจัดเตรียมสินเชื่อไว้ให้บริการ ได้แก่ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาวสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรกเพื่อธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน และผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม

โดยได้เริ่มนำร่องที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพรวมกันอยู่จำนวนมาก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพ หรือมหานครสุขภาพ (Health City ) อีกทั้งเชียงใหม่ได้รับคัดเลือกอยู่อันดับ 7 เมืองบริการสุขภาพดีของโลกจาก 231 เมืองทั่วโลก โดยเว็บไซต์ชื่อดัง numbeo.com และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ลำดับที่ 2 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชียโดยนิตยสาร Travel+Leisure

ทั้งนี้ในเบื้องต้นคัดเลือกผู้ประกอบการ 70 ราย เข้าสู่กระบวนการอบรมและพัฒนาโดยเริ่มทยอยอนุมัติสินเชื่อจาก SME Development Bankได้แล้ว เช่น หจก.ไข่เค็มราเชนทร์ ผู้ผลิตน้ำพริกไข่เค็ม แบรนด์ “ไข่เค็มราเชนทร์” บริษัท บีสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอาง แบรนด์ “Be Kids” และบริษัท ไบโอฟู้ด อินดัสทรี้ จำกัด ผู้ผลิตกล้วยหอมทองแปรรูป แบรนด์ “jmm fruit” เป็นต้น หลังจากนี้ จะขยายการสนับสนุนไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป

Back to top button