“ไพร์ม โรดกรุ๊ป” เตรียมแบ็คดอร์ FC รวบหุ้นเข้าตลาดปี 62 เบนเข็มสู่ธุรกิจพลังงานเต็มตัว!

“ไพร์ม โรดกรุ๊ป” เตรียมแบ็คดอร์ FC รวบหุ้นเข้าตลาดปี 62 เบนเข็มสู่ธุรกิจพลังงานเต็มตัว!


นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม โรด อัลเทอร์เนทีฟ จำกัด ในกลุ่มไพร์ม โรด เปิดเผยว่า กลุ่มไพร์ม โรด เปิดเผยว่า หลังจากที่มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทอนุมัติให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ FC นั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ และคาดว่าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยทางอ้อม (Backdoor Listing) พร้อมทำธุรกรรมการโอนกิจการระหว่างกัน และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงปลายไตรมาส 1/62 หรืออย่างช้าสุดในช่วงต้นไตรมาส 2/62

โดยจะอยู่ในกลุ่มพลังงานที่ปัจจุบันกลุ่มไพร์ม โรด เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมกันนี้มีแผนจะเปลี่ยนชื่อจากบมจ.ฟู้ด แคปปิตอล เป็นบมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ ใช้ชื่อย่อว่า PRIME

ทั้งนี้ ตามโครงสร้างใหม่ธุรกิจของ FC จะกลายเป็นบริษัทพลังงานที่มุ่งเน้นในส่วนของโครงการสาธารณูปโภคที่ไม่ได้จำกัดเพียงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ทั้งในและต่างประเทศอยู่ในมือทั้งหมด 208.14 เมกะวัตต์  (MW) ขณะที่ธุรกิจอาหารและที่ดินบางส่วนของ FC ที่มีอยู่เดิมก็จะทยอยขายออกไปภายใน 15 เดือน ซึ่งเมื่อหักล้างกับภาระหนี้สินที่มีอยู่ก็จะทำให้มีเงินสดกลับมากว่า 570 ล้านบาท โดยเมื่อมีการโอนกิจการระหว่างกันเรียบร้อยแล้วก็จะทำให้ FC กลับมามีกำไรได้ในปี 62 จากโครงการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มไพร์ม โรด และจะทำให้ FC มีส่วนผู้ถือหุ้นมากกว่า 50% ก็หลุดการถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะเดียวกันก็จะศึกษาแผนการล้างขาดทุนสะสมของ FC ที่ ณ สิ้นเดือน ก.ย.61 มีอยู่ราว 2 พันล้านบาทด้วยแนวทางต่าง ๆ นอกเหนือจากการนำกำไรที่อาจต้องใช้เวลานาน และศึกษาแนวทางการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มไพร์ม โรด ที่ภายหลังการเข้าถือหุ้นใน FC แล้วจะมีสัดส่วนการถือหุ้นมากถึงราว 87% เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ฟรีโฟลตของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะต้องมีการกระจายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งอาจจะเป็นการขายหุ้นในมือของกลุ่มไพร์ม โรดออกมา หรือการขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้กับประชาชนทั่วไป (PO) ซึ่งกรณีดังกล่าวจะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี โดยหากมีการขายหุ้นให้ PO ก็จะทำให้สามารถระดมทุนใหม่เข้ามาเพื่อใช้รองรับการขยายงานที่ยังมีศักยภาพการเติบโตได้ในอนาคตด้วย

“ธุรกิจเราขยายมากขึ้น ยิ่งไปต่างประเทศทุนก็ต้องยิ่งเพียงพอ ต้นทุนการเงินก็ต้องแข่งขันกับคนอื่นได้ การเป็นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดฯจะทำให้มีวิธีการระดมทุนที่หลากหลาย ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลงทำให้การขยายธุรกิจของเราทำได้เร็วกว่าเดิมเราจะเข้าตลาดโดยใช้เกณฑ์กำไรสุทธิเข้าเทรดใน mai แต่มีปัญหาทางเทคนิคเราหันมาใช้เกณฑ์สาธารณูปโภค ที่มีเกณฑ์สำคัญเรื่องการมีสัญญาระยะยาวมากกว่า 20 ปีแต่มีสัญญาเหลือมากกว่า 15 ปี ซึ่งก็ apply ไป SET อัตโนมัติ” นายสมประสงค์ กล่าว

โดย ปัจจุบันกลุ่มไพร์ม โรด เป็นผู้ผลิตโซลาร์ฟาร์ม มีโครงการในไทยรวม 131.64 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทั้งหมดในปีนี้ หลังในช่วงปลายเดือนธ.ค.จะเริ่ม COD โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ เฟส 2 อีก 3 โครงการ กำลังผลิตรวมประมาณ 15 เมกะวัตต์ , โครงการในญี่ปุ่น 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 68 เมกะวัตต์ ดำเนินการร่วมกับบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) โดยแต่ละโครงการบริษัทถือหุ้น 25% และ BPP ถือหุ้น 75% ปัจจุบัน COD แล้ว 2 โครงการ และจะ COD อีก 1 โครงการ ขนาด 26 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายปี 61  ,โครงการในไต้หวัน 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 8.5 เมกะวัตต์ ถือหุ้นทั้ง 100%  คาดว่าจะ COD ในปี 62   และคาดว่าจะสามารถ COD โครงการที่มีอยู่มือในมือได้ครบทั้งหมด 208.14 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ กลุ่มไพร์ม โรด คาดว่ากำไรและรายได้ในปี 62 จะเติบโตได้ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่เพิ่มขึ้นราว 28.5 เมกะวัตต์ จากโครงการที่ COD เพิ่มเติมในปลายปีนี้ก็จะรับรู้รายได้เต็มที่ในปีหน้า และการ COD โครงการในไต้หวันในปีหน้า ขณะที่รายได้และกำไรในปี 61 น่าจะใกล้เคียงกับปี 60 ที่มีรายได้ 450 ล้านบาท และมีกำไร 220 ล้านบาท เนื่องจากกำลังผลิตใหม่ที่เข้ามาในปีนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายปี

นอกจากนี้กลุ่มไพร์ม โรด ยังมองโอกาสการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช่เพียงพลังงานหมุนเวียน แต่ยังมองพลังงานในรูปแบบอื่นด้วยตามโอกาสที่จะเข้ามา โดยปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเทศไต้หวัน ที่เป็นตลาดใหญ่ในส่วนของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการพลังงานลม , เวียดนาม ,ฟิลิปปินส์ รวมถึงในไทยที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะมีโครงการโซลาร์เสรี โซลาร์ชุมชน รวมถึงขยะชุมชน ออกมาด้วย รวมถึงยังมองโอกาสเข้าลงทุนธุรกิจกลุ่มสาธารณูปโภคอื่น เช่น ธุรกิจน้ำด้วย

อนึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ FC เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจาก 2,767 ล้านบาท เป็น 25,508 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 22,740 ล้านหุ้น จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนด้วยการ 1.เสนอขายให้บุคคลในวงจำกัด(PP) จำนวน 14,881 ล้านหุ้น ให้กับ PRGD เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทน ตามแผนการรวมธุรกิจ  2. รองใบสำคัญแสดงสิทธิ FC-W5 และ FC-W6 จำนวน 7,317 ล้านหุ้น และ 3. เพื่อรองรับการปรับสิทธิของ FC-W2 จำนวน 224.58 ล้านหุ้น

โดย ผลของการเพิ่มทุนดังกล่าวจะส่งผลให้ PRGD บริษัทในกลุ่มไพร์ โรด กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ FC ในสัดส่วน 87.5% ขณะที่ นายอัครเดช ศรีชวาลา  1.26% และนายกฤษน์ ศรีชวาลา 1.09%

Back to top button