DEMCO ย้ำผลงานปี 62โต ตุนแบ็กล็อกแน่น 2 พันลบ. เล็งลงทุน CLMV ดันสัดส่วนรายได้ตปท.แตะ 10%

DEMCO ย้ำผลงานปี 62 โต หลังตุนแบ็กล็อกแน่น 2.84 พันลบ. เล็งลงทุนใน CLMV หวังดันสัดส่วนรายได้ตปท.แตะ 10%


นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 62 ยังเป็น positive ทั้งในส่วนของรายได้และกำไรสุทธิ แม้ว่าในปีนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายพิเศษในส่วนค่าเสียโอกาสการขายไฟฟ้าจากการหยุดซ่อมแซม (Lost of production) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบงจากการซ่อมแซมฐานเสากังหันที่เหลือ 26 ต้นที่บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะไม่มากนัก

ขณะที่บริษัทมีปริมาณงานในมือ (Backlog) ณ สิ้นเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ระดับ 2.84 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/61 และส่วนใหญ่ราว 2 พันล้านบาทจะรับรู้ฯ ภายในปีนี้ และยังจะรับรู้เงินปันผลรับจากธุรกิจการลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการห้วยบง ประมาณ 160 ล้านบาท/ปีต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเข้าซ่อมแซมฐานเสากังหันที่เหลือตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งทำให้ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษในส่วนค่าเสียโอกาสดังกล่าวจำนวนหนึ่ง แต่คาดว่าจะไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากการหยุดซ่อมแซมครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งไม่ใช่ช่วงพีคของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม

“งบทั้งปี 62 ยังเป็น positive แม้จะมีรายการพิเศษเกิดขึ้น แต่ผลการดำเนินงานของ DEMCO ยังมาจาก 2 ส่วนคือ construction และปันผลรับจากการลงทุนห้วยบง ปีละ 160 ล้านบาท ส่วน operation ก็ตาม Backlog ที่มีที่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ ซึ่งในปีนี้ก็มีประมาณ 2 พันล้านบาท และเรายังจะมีโอกาสได้งานประมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากงานประมูลที่จะออกมาในปีนี้ด้วย” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง ผลการดำเนินงาน DEMCO ในช่วง 9 เดือนแรกปี 61 มีกำไรสุทธิ 191.22 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3.49 พันล้านบาท ขณะที่ในปี 60 มีกำไรสุทธิ 65.59 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4.48 พันล้านบาท

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองตลาดกลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าในปีนี้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน และยังมีโอกาสที่ดีต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า แม้ว่าในขณะนี้รัฐบาลจะยังไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอีก 8 ปีข้างหน้า รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ก็ไม่มากนัก หลังมีการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะยังมีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า (Substation) และสายส่ง เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลรับซื้อก่อนหน้านี้ทยอยเข้าระบบ

โดยบริษัทประเมินว่าในช่วง 3-4 ปี กฟผ.จะยังคงมีงานประมูลสร้างสถานีไฟฟ้า และสายส่งปีละ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ ก็ยังมีงานประมูลของสถานีไฟฟ้า ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราว 7 พันล้านบาท/ปี และการนำสายไฟฟ้าลงดิน ของกฟภ.ราว 2.8 พันล้านบาท/ปี ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยังมีงานโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่ออกมาต่อเนื่องด้วย ซึ่งในส่วนนี้บริษัทก็ทยอยเข้ายื่นประมูลงานและคาดว่าจะทยอยรับรู้ผลประมูลได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1/62

ทั้งนี้ ในระยะยาวบริษัทก็ได้เตรียมแผนงานรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมีแผนจะขยายงานระบบสายไฟเบอร์ออปติค ธุรกิจสื่อสาร และการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยมองโอกาสในส่วนของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะแบ่งงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างขนาด 1.2 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ให้กับโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.-เม.ย. และยังได้เจรจาเพื่อหาลูกค้าในส่วนงานนี้เพิ่มเติม ,ส่วนที่สอง เป็นการร่วมทุน โดยจะแบ่งผลประโยชน์จากการประหยัดค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น และส่วนที่สาม บริษัทเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งการประหยัดค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะตัดทอนมาจ่ายคืนบริษัทในรูปค่าก่อสร้าง

ด้านนายไพฑูรย์ กำชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ของ DEMCO  กล่าวว่า บริษัทมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะใน CLMV 2 ประเทศ คือ เมียนมาและลาว และให้ความสำคัญสำหรับงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และสายส่งเป็นหลัก พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมโอกาสการเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ตลอดจนงาน EPC สำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยวางเป้าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 10% ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 5% หลังจากได้เข้าไปดำเนินงานรับงานในต่างประเทศมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว

ส่วนงานต่างประเทศปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาโครงการสร้างสถานีไฟฟ้า มูลค่า 300-350 ล้านบาทในเมียนมา หลังจากได้ยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้ แต่คาดว่าการก่อสร้างโครงการอาจจะถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด จากเดิมคาดว่าจะรู้ผลในไตรมาส 1/62 ขณะที่งานในลาวเบื้องต้นทราบว่าจะมีงานก่อสร้างสะพานเหล็กก็มีโอกาสที่จะรับงานมาให้โรงงานเสาโครงสร้างของบริษัทด้วย โดยคาดว่าจะมีการเปิดประมูลงานเร็ว ๆ นี้

“การจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ เราคงต้องปรับปรุงฐานเสาให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนไปข้างหน้าจะไม่กระทบกับกระแสเงินสด  หลังจากนั้นก็จะโฟกัสเรื่องการลงทุนได้ดีขึ้น นอกจาก core business ที่มี ซึ่งหลัก ๆเ รายังเน้นเรื่องรับเหมาในประเทศ และต่างประเทศ คือ CLMV ธุรกิจในประเทศไม่ว่าจะเป็นสายส่ง substation 3 ปีนับจากนี้เรายังสามารถ enjoy การลงทุนของภาครัฐในช่วงนี้ได้ การจะ move ไป CLMV เป็นการรองรับในช่วง cycle ถัดไป ส่วนการลงทุนในเรื่องโซลาร์รูฟ 1 ใน 3 โมเดล ที่เราจะเป็นการลงทุนเองนั้น เป็นการเตรียมความพร้อมของการลงทุน เพราะไม่ได้เป็นการลงทุนเยอะมาก ปี 62 หลังจากปรับปรุงฐานเสาเสร็จ ภาพจะชัดขึ้น การที่จะ move ไปต่างประเทศ หรือ investment เริ่มมีการขยับ แต่แผน direction เป็นแบบนี้” นายไพฑูรย์ กล่าว

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด  (WEH) ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 4% นั้น บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะขายหุ้นดังกล่าวออกมา แม้ว่าขณะนี้จะมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวบ้างเช่นกัน โดยการตัดสินใจจะขายหรือไม่ขึ้นกับความจำเป็นในการใช้เงิน รวมถึงราคาและเงื่อนไขการชำระเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากนัก หลังจากผ่านช่วงวิกฤตที่ต้องใช้เงินเพื่อซ่อมแซมฐานเสากังหันลมมาแล้ว ขณะที่ WEH กำลังจะทอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ครบทั้งหมด 717 เมกะวัตต์ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้

สำหรับผลประโยชน์จากการลงทุนในหุ้น WEH จะมาจาก 2 ส่วน หาก WEH เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ก็จะทำให้บริษัทได้รับ capital gain และหากยังเข้าตลาดหุ้นไม่ได้ เมื่อ WEH สร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ กระแสเงินสดก็อาจจะถูกนำไปใช้หนี้หรือจ่ายปันผลกลับมา จากปัจจุบันที่ผู้ถือหุ้นของ WEH ยังไม่ได้รับเงินปันผลเลยแม้จะทยอย COD กำลังการผลิตไปก่อนหน้านี้ก็ตาม เพราะ WEH นำกระแสเงินสดที่ได้รับกลับมาไปใช้ลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเติม แต่เมื่อโครงการ COD ครบหมดแล้วก็จะทำให้มีโอกาสจ่ายปันผลกลับมาในอนาคต แม้เบื้องต้นคาดว่าจะยังไม่ใช่ปีนี้เพราะ WEH น่าจะนำกระแสเงินสดกลับไปใช้หนี้ก่อนเป็นลำดับแรก

“ตอนนั้นที่เราคาดว่าจะขายหุ้นวินด์ฯหรือไม่ขายหุ้นวินด์ฯ เพราะช่วงนั้นเราอยู่ระหว่างหากระแสเงินสดเพื่อเตรียมจะซ่อมฐานเสา แต่เราก็ไมได้รอเราก็เจรจากับแบงก์จนได้เงินกู้มาดำเนินการแล้ว ถ้าเทียบ ณ วันนี้ กับ ณ วันนั้น ความจำป็นขายหุ้นวินด์ฯ น้อยลง พอน้อยลงก็ไม่ได้กดดันเรามากว่าจะเข้าตลาดหรือไม่เข้า ถ้าเข้าก็เป็น positive กับเรา ถ้าเราขายตอนนี้ความจำเป็นการใช้เงินน้อยลงแล้ว เราจะไปขายทำไม”นายไพฑูรย์ กล่าว

Back to top button