เปิดงบฯปี 61 กลุ่มแบงก์ TMB เด่นสุดโต 34% ฟาก SCB-CIMB พลาดท่ากำไรหด!

เปิดงบฯปี 61 กลุ่มแบงก์ TMB เด่นสุดโต 34% ฟาก SCB-CIMB พลาดท่ากำไรหด!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ประกาศผลการดำเนินงาน โดยครั้งนี้จะเป็นการรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ประกาศมีกำไรสุทธิเติบโตอย่างแข็แกร่ง ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง

อันดับที่ 1 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 61 มีกำไรสุทธิ 1.16 หมื่นล้านบาท เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมกำไรสุทธิ 8.69 พันล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานประจำปี 61 กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัวอย่างแข็งแกร่งร้อยละ 85.3 เทียบจากปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุนในการขายหุ้น บลจ.ทหารไทย และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

 

อันดับที่ 2 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 61 มีกำไรสุทธิ 2.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 27% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมกำไรสุทธิ 2.24 หมื่นล้านบาท

โดยในปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกําไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 28,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากปี 2560 จากการเติบโตของสินเชื่อที่ร้อยละ 4.4 จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยสินเชื่อรายย่อยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคล

ประกอบกับสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เติบโตตามลักษณะธุรกิจของธนาคาร ในขณะที่สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทยอยขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4/61 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกําไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร)เท่ากับ 6,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 โดยกําไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.21 ในไตรมาสที่ 4/60 เป็นร้อยละ 3.23

 

อันดับที่ 3 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 61มีกำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 12% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3.43 หมื่นล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานประจำปี 61 กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการตั้งสำรองรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร นอกจากนี้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,377 ล้านบาท หรือ 4.65%

 

อันดับที่ 4 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2561 มีกำไรสุทธิ 7.84 พันล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7 พันล้านบาท

อันดับที่ 5 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.61 มีกำไรสุทธิ 6.04 พันล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5.74 พันล้านบาท

 

อันดับที่ 5 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 มีกำไรสุทธิ 3.53 หมื่นล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3.30 หมื่นล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 35,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากปี 2560 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 121,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.40 และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน

 

อันดับที่ 6 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 มีกำไรสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4.32 หมื่นล้านบาท

โดยปี 2561 รายได้จากการดำเนินงานของธนาคารยังคงขายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 138,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต 4.4% ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปรับตัวลดล 4.7% จากปีก่อน

 

อันดับที่ 7 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม2561 มีกำไรสุทธิ 6.90 ล้านบาท ลดลง 98% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 384 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานประจำปี 2561 มีกำไรลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลง การยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านทางช่องทางดิจิทัล การชะลอตัวของธุรกิจประกันภัย และการลดลงของค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในครึ่งปีหลัง เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการ Transformation ตลอดสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 46.8% ในปี 2561 ซึ่งอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 45-47%

ทั้งนี้ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อผลลัพธ์ของโครงการ Transformation ปรากฏเด่นชัดขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2562

 

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ธนาคารพาณิชย์ที่รายงานผลการดำเนินงานออกมาเพิ่มเติม คือ KTB กำไรสุทธิลดลง 21.5% จากไตรมาสก่อน แต่ยังสอดคล้องกับประมาณการฯ ของ ASPS ทั้งนี้ผลกำไรที่ลดลงมาจากค่าใช้จ่ายเป็นหลัก (ทั้งค่าใช้จ่ายทางการตลาด, ค่าใช้จ่ายพนักงาน, ค่าใช้จ่ายอาคารสถานที่และอุปกรณ์)  ทำให้ cost to income ratio  เพิ่มขึ้นจาก 44.1% ในไตรมาส 3/2561 เป็น 49.5% นอกจากนี้ยังเห็นการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เช่น FX และการสำรองหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น (Credit cost) จึงนำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรปี 2562 และ 2563 ลงจากเดิม 15.4% และ 12.2% ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่ปี 2562  จะหดตัวเล็กน้อยจากปี  2561 แต่จะกลับมาเติบโตราว5.4% ในปี 2563 ได้ Fair Value ปี 2562 ใหม่คือ 20.15 บาท ลดลงจากเดิม 22.10 บาท ตามวิธี GGM  ที่ PBV 0.87 เท่า จากเดิม 0.95 เท่า โดยปรับลด ROE จากเดิม 9.5% เหลือ 9%  ยังแนะนำ Switch

ตามมาด้วย  TCAP รายงานกำไรสุทธิสูงกว่าคาด เติบโต 8.0% จากไตรมาสก่อน (4.4% จากปีก่อน) หนุนจากทั้งธุรกิจหลักสินเชื่อรายย่อยและการบันทึกกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่มีประเด็นน่ากังวล นอกจากนี้ ยังพบการลดระดับของ credit cost อย่างมีนัยฯ จากการโอนกลับค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ส่วนเกิน เนื่องจากเชื่อว่าเพียงพอรองรับหลักเกณฑ์ IFRS 9 แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานปี 2561 ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลงเล็กน้อย โดยปี 2562 จะเติบโตราว 2.5% (จากการเน้นธุรกิจสินเชื่อรายย่อยกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ และกลุ่มสินเชื่อ high yield) และ 9.5% ในปี 2563 ภายใต้ประมาณการใหม่ ได้ Fair Value ปี 2562 ที่ 60 บาท (เดิม 69.90 บาท) ตามวิธี GGM ภายใต้ ROE ระยะยาว  11% (เดิม 12.5%) โดยมี PBV ปี 2562 เพียง 0.9 เท่า พร้อมคาดปันผลปี 2561-62 กว่า 5% p.a. (ปีละ 2 ครั้ง) จึงยังคงแนะนำซื้อ

และ TMB กำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยฯ ถึง 69.6% จากไตรมาสก่อน และ 24.6% จากปีก่อนเกิดจากการลดลงของกำไรจากการขายเงินลงทุนที่บันทึกเข้ามาอย่างมีนัยฯ ในไตรมาส 3/2561 จากการขายเงินลงทุนใน บลจ.ทหารไทย ขณะที่ในงวดไตรมาส 4/2561 แทบไม่ปรากฎรายการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงกว่าคาด ส่งผลให้ cost to income ratio ดีดตัวขึ้นมาที่ 53.3% จาก 20.4% ในไตรมาส 3/25611ส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์ แม้ธนาคารฯ ได้ดำเนินการตัดหนี้สูญเพิ่มเติม และเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ กลับยังพบ NPL เพิ่มขึ้นมาที่ 2.76% จาก 2.69% ณ สิ้น ไตรมาส 3/2561 ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการฯ ปี 2562-63 ทำให้ไม่เห็นแรงจูงใจให้เข้าลงทุน คงแนะนำให้ switch

ทั้งนี้ ภาพรวมกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/2561 ของ 10 ธ.พ. ที่ฝ่ายวิจัยศึกษา ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 4.21 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 23.4% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 1.1% จากปีก่อน สาเหตุหลักของการลดลงของกำไรสุทธิในงวดนี้เป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยเสนอไปวานนี้ คือ ค่าใช้จ่ายพิเศษ อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน จากปรับเพิ่มค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้างสำหรับพนักงานที่มีอายุงานเกิน 20 ปีขึ้นไป (BBL, KTB, KKP) ค่าใช้จ่ายอาคารสถานที่และอุปกรณ์ (KTB, KKP) การปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขาย (KKP) กำไรจากการขายเงินลงทุนลดง (TMB) รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น (SCB, KTB) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่กำไรปกติ ในแต่ละ ธ.พ. ยังถือว่าเป็นไปตามคาด โดยเฉพาะ BBL รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ สอดคล้องกับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม และค่าธรรมเนียมฯ เติบโตสูงตามคาด ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่น่ากังวล, เช่นเดียวกับ KBANK ธุรกิจหลักยังดีเช่นกัน และคุณภาพสินทรัพย์ยังคงควบคุมได้ ยกเว้น SCB ยังน่ากังวลในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์จากการเพิ่มขึ้นของ NPL

โดยรวม เชื่อว่าตลาดฯ น่าจะรับรู้แรงขาย Sell on fact ของกลุ่ม ธ.พ. ไปมากแล้ว และน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว ไปตามทิศทางธุรกิจจะเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ยังเลือก BBL (FV@B227) และ KBANK (FV@B251) เป็น top picks กลุ่ม

Back to top button