สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 14 ก.พ. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) หลังจากทางการสหรัฐรายงานว่ายอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ร่วงลงหนักสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มสินค้าผู้บริโภคดิ่งลง และยังสกัดปัจจัยบวกจากรายงานความคืบหน้าของการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนด้วยเช่นกัน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,439.39 จุด ลดลง 103.88 จุด หรือ -0.41% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,745.73 จุด ลดลง 7.30 จุด หรือ -0.27% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,426.95 จุด เพิ่มขึ้น 6.57 จุด หรือ +0.09%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) จากการที่นักลงทุนผิดหวังต่อตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐที่ทรุดหนักสุดในรอบกว่า 9 ปี ขณะที่นักลงทุนยังจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์ปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) ในสัปดาห์นี้

ดัชนี Stoxx Europe ลดลง 0.32% ปิดที่ 363.80 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,089.79 จุด ลดลง 77.41 จุดหรือ -0.69% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,062.52 จุด ลดลง 11.74 จุดหรือ -0.23% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,197.01 จุด เพิ่มขึ้น 6.17 จุดหรือ +0.09%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความหวังในการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของเยอรมนี และข้อมูลยอดค้าปลีกที่น่าผิดหวังของสหรัฐ กดดันตลาดก็ตาม ขณะที่หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ปรับตัวขึ้นนำตลาดหลังบริษัทเอสทราเซเนการายงานผลประกอบการสดใส

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,197.01 จุด เพิ่มขึ้น 6.17 จุดหรือ +0.09%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะช่วยหนุนอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ ซึ่งรวมถึงน้ำมัน นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงขานรับข่าวการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 54.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2562

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 96 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 64.57 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2561

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนส่งสัญญาคืบหน้า รวมทั้งแนวโน้มที่ว่าสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะที่หน่วยงานของรัฐบาลปิดทำการชั่วคราว หรือชัตดาวน์

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.2 ดอลลาร์ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,313.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 12.4 เซนต์ หรือ 0.79% ปิดที่ 15.528 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.60 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 789.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 13.30 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 1385.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกที่ร่วงลงหนักสุดในรอบ 9 ปี และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งขึ้นสวนทางกับตัวเลขคาดการณ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.47 เยน จากระดับ 110.99 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0047 ฟรังก์ จากระดับ 1.0088 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3281 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3250 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1299 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1269 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2801 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2850 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7105 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7094 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button