GBX มากับข่าวลือ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจเรื่องการ “ควบรวมกิจการ” หรือ Mergers and Acquisitions ซึ่งในวงการตลาดหุ้นมักเรียกสั้น ๆ ว่า “M&A” คือการที่กิจการได้มาซึ่ง หุ้น สินทรัพย์ หรือกิจการอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจควบคุมหรือครอบครอง


ตีแผ่บจ.ดัง

คุณเกศินี จากบางซื่อ กรุงเทพฯ พูดถึงสถานการณ์ข่าวลือเรื่องการควบรวมของ GBX หรือ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนฮือฮากันเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายผู้บริหารของบริษัทก็ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างรวดเร็ว จึงอยากเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับข่าวการควบรวมทำไมถึงเกิดขึ้นถี่มากในหมู่นี้ และทำไมต้องเกิดขึ้นกับหุ้นตัวนี้ด้วยคะ

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจเรื่องการ “ควบรวมกิจการ” หรือ Mergers and Acquisitions ซึ่งในวงการตลาดหุ้นมักเรียกสั้น ๆ ว่า “M&A” คือการที่กิจการได้มาซึ่ง หุ้น สินทรัพย์ หรือกิจการอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจควบคุมหรือครอบครอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือเพื่อการอยู่รอดของกิจการ เป็นกระบวนการที่ส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าของกิจการนั้น ๆ

ด้วยเหตุนี้ถึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับ “ควบรวมกิจการ” ราคาหุ้นมักทะยานขึ้นแรงเป็นประจำ เพราะเรื่องดังกล่าวตีความได้ว่า สถานการณ์ของบริษัทจะดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ “รายได้” และ “กำไร” ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายบริษัทด้วยกัน

ประเด็นดังกล่าวทำให้ข่าวลือการควบรวมของ GBX หรือ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็นเหตุการณ์ปกติสำหรับคนในวงการ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้หุ้นตัวนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาปั้นเป็นข่าวได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในมุมของตัวเลขกำไรที่บางมาก ๆ และในบางปีก็มีผลขาดทุนเกิดขึ้น จึงกลายเป็นหุ้นที่ถูกจับโยงเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลตรงนี้ดูได้จากตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของ GBX ด้านล่าง ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของบริษัทเริ่มหยุดนิ่งอยู่กับที่ และหนทางเดียวที่จะทำให้บริษัทแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญคือ “พันธมิตรใหม่” ที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อมองย้อนดูพัฒนาการของธุรกิจ “นายหน้าค้าหลักทรัพย์” ในรอบระยะเวลานานถึง 30 ปี จะเห็นว่า “ค่าคอมมิชชั่น” นับวันจะเบาบางลงเรื่อย ๆ และทำให้ความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะไม่มีใครพูดถึงการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้อีกเลยนะครับ

ประเด็นดังกล่าวถูกตอกลิ่มด้วยเรื่องค่าคอมฯ เมื่อก่อนคิดในระดับ 0.50% ของมูลค่าการซื้อขาย หรือพูดง่าย ๆ คือ หากเทรดในมูลค่า 1 ล้านบาท ต้องเสียค่าคอมฯ ให้โบรกเกอร์เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท

ต่อจากนั้น 10 ปีถัดมา หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 คิดค่าคอมฯ กันที่ระดับ 0.25% คือซื้อขายในมูลค่า 1 ล้านบาทเหมือนกัน แต่จ่ายค่าคอมฯ ให้โบรกเกอร์เพียงแค่ 2,500 บาท

ขณะที่ 10 ปีล่าสุด ทุกคนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อลูกค้าสามารถ “คีย์คำสั่งเอง” ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้เสียค่าคอมฯ แค่ระดับ 0.15% หรือซื้อขายในระดับ 1 ล้านบาท ก็จ่ายค่าคอมฯ ให้โบรกเกอร์แค่ในระดับ 1,500 บาท เท่านั้น (หากเป็นขาใหญ่ซื้อขายหนัก ๆ อาจคิดกันแค่ระดับ 0.10-0.05% ด้วยซ้ำ)

ทั้งหมดนี้ทำให้ GBX มักทะยานขึ้นแรงพร้อมกับข่าวลือเป็นประจำ เพราะสตอรี่ของหุ้นเอื้อให้พวกนักปั่นหุ้นสร้างข่าวโคมลอยได้เป็นประจำนะครับ

สภาแมงเม่า : ดร.สมชาย

Back to top button