PTTOR กับ คาเฟ่ อเมซอน

กลับมาเขียนเรื่อง “คาเฟ่ อเมซอน” อีกครั้ง


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร 

กลับมาเขียนเรื่อง “คาเฟ่ อเมซอน” อีกครั้ง

เพราะล่าสุด เพิ่งจะเปิดสาขา 3 ในประเทศโอมาน ที่เป็นความร่วมมือกับ OOMCO บริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมาน

คาเฟ่ อเมซอน ตั้งเป้าว่าจะเปิดอีก 7 สาขา รวมเป็น 10 สาขาภายในปี 2562

อย่างที่รับทราบกันว่า “ธุรกิจกาแฟ” ภายใต้แบรนด์ คาเฟ่ อเมซอน ของ “บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” (PTTOR) เป็นธุรกิจ “เรือธง” หรือ flagship ของ PTTOR เลยก็ว่าได้

PTTOR นั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดทำ Filing เพื่อยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมเข้าตลาดหุ้น

จากกำหนดการเดิมคาดว่าน่าจะอยู่ราว ๆ ไตรมาส 3/2562

PTTOR แบ่งโครงสร้างธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่มธุรกิจครับ

1. กลุ่มการตลาดขายปลีก, 2. กลุ่มการตลาดพาณิชย์, 3. กลุ่มการตลาดต่างประเทศ, 4. กลุ่มธุรกิจหล่อลื่น และ 5. กลุ่มปฏิบัติการคลังปิโตรเลียม

คาเฟ่ อเมซอน  ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจการตลาดขายปลีก

ผลประกอบการของ คาเฟ่ อเมซอน นั้นน่าสนใจมาก

ปี 2557 มีรายได้รวม 3,500 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้เพิ่มเป็น 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.28%

ปี 2559 รายได้ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.14%

และปี 2560 รายได้ขึ้นมาเป็น 10,256 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28%

ส่วนแผนงานปี 2561 ผมยังไม่มีตัวเลขดังกล่าว เพราะ PTTOR อยู่ระหว่างจัดทำ Filing

แต่หากดูจากข่าวก่อนหน้านี้ ทางผู้บริหารของ PTTOR ตั้งเป้ายอดขายกาแฟ คาเฟ่ อเมซอนไว้ว่า ปี 2561 จะเติบโตขึ้นอีก 25% คิดเป็นรายได้กว่า 12,820 ล้านบาท

คาเฟ่ อเมซอน เป็นแบรนด์ที่ PTTOR พัฒนาขึ้นเองตั้งแต่ปี 2545

เริ่มต้นให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น

ปัจจุบัน มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 2,600 สาขา โดยประมาณ 2,400  สาขา อยู่ในประเทศไทย และกว่า  80%  ดำเนินการโดยแฟรนไชส์ซี เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ “เอสเอ็มอี”

และอีกประมาณ 200 สาขา อยู่ในต่างประเทศ เช่น โอมาน กัมพูชา สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมา และญี่ปุ่น

ทว่า สาขาต่างประเทศส่วนใหญ่ จะอยู่ในกัมพูชา

ในปี 2561 คาเฟ่ อเมซอน มีสาขาในกัมพูชาแล้ว 110 สาขา ยอดขาย 15 ล้านแก้ว กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น

กลุ่ม ปตท. นั้นต้องการที่จะปั้นร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ให้เป็น Global Brand ภายใน 5–10  ปีข้างหน้าครับ

หรือจำนวนสาขาจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20,000 สาขา

หากคาเฟ่ อเมซอน เดินไปตามแผนที่วางไว้ได้ นั่นเท่ากับว่า จำนวนสาขาของแบรนด์กาแฟแห่งนี้จะมีจำนวนคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสาขาของ “สตาร์บัคส์”

เฉพาะในประเทศไทยส่วนแบ่งการตลาดกาแฟของ คาเฟ่ อเมซอน แซงสตาร์บัคส์ ไปแล้ว

และแซงมาตั้งแต่ปี 2558 กระทั่งปัจจุบัน

หรือดูได้จากตัวเลขรายได้ของสตาร์บัคส์ ปี 2557 มีรายได้ 3,958 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้ 4,998 ล้านบาท (เป็นปีแรกที่น้อยกว่า คาเฟ่ อเมซอน)

ปี 2559 รายได้ 6,051 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้  7,006 ล้านบาท และปี 2561 ที่คาดว่ารายได้จะอยู่ประมาณ 8,400 ล้านบาท

สตาร์บัคส์ เอง ก็พยายามปรับกลยุทธ์ ด้วยการเพิ่มจำนวนสาขาที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์การค้ามากขึ้น หรือมาเปิดในรูปแบบ “สแตนด์อะโลน” พร้อมกับจับมือกับค่ายน้ำมัน “เอสโซ่” เพื่อเปิดสาขาสตาร์บัคส์ในปั๊มน้ำมันด้วย

มูลค่าตลาดกาแฟของไทย ปี 2560 อยู่ที่ 21,220 ล้านบาท

ส่วนปี 2561 มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 23,470  ล้านบาท

ปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 25,860 ล้านบาท, ปี 2563 เพิ่มเป็น 28,400 ล้านบาท และปี 2564 มาอยู่ที่ 30,950 ล้านบาท

มาร์จิ้นของกาแฟต่อแก้วนั้น ว่ากันว่า “สูงมาก”

และสูงกว่าค้าปลีกน้ำมันเสียอีก

 

Back to top button