“เครดิตสวิส” หวั่นสภาเสียงแตก ขึ้นป้าย “Underweight” หุ้นไทยอีกรอบ!

“เครดิตสวิส” หวั่นสภาเสียงแตก ขึ้นป้าย “Underweight” หุ้นไทยอีกรอบ!


บริษัท หลักทรัพย์เครดิต สวิส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (20 มี.ค.) ประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศไทยว่า จากโพลล์ที่ออกมาล่าสุดของเนชั่นโพลล์ และมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ และความเป็นไปได้ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะกลับสู่ตำแหน่งก็ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากจะต้องได้คะแนน 250 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ เสียงอีก 25% จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

โดยโพลล์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ ต้องได้เสียงจาก ส.ส. อยู่ที่ 25% พลเอก ประยุทธ์ ถึงจะกลับมาดำรงตำแหน่งต่อได้ แต่โพลล์จากเนชั่นนั้นให้คะแนนเสียงไว้เพียงแค่ 19% เท่านั้น

ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจึงจำเป็นต้องจับมือกับพรรคเล็กอื่นๆ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงที่เพียงพอ เนื่องจากพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างประกาศชัดแล้วว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลหากมี พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีคะแนนเสียงมาจากทั้งฝ่าย ส.ส. 250 เสียง และ ส.ว. อีก 250 เสียง

อย่างไรก็ตาม พบว่า ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะต้องเผชิญกับอ่อนแอของรัฐบาลเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ในกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ ได้กลับมารับตำแหน่งอีกสมัยจากผลโหวตของ ส.ว. ซึ่งได้รับราชชื่อที่เสนอมาจาก พลเอก ประยุทธ์ จึงทำให้มีโอกาสสูงที่จะสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ แต่อาจเกิดปัญหาจากฐานเสียงในฝ่าย ส.ส. ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในเรื่องการผ่านร่างนโยบาย หรือการของบประมาณได้

นอกจากนี้พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงโดยการนำนโยบายที่มุ่งเน้นประชานิยม เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ , การปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล, การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมทั้งการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มากกว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

โดยจากการสำรวจข้อมูลพบว่า (ในปี 2555-2556) มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 71% ในบางจังหวัด จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง จากการแบกรับค่าใช้จ่ายและต้นทุนจากในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดการส่งออกในปี 2556-2557 ปรับตัวลดลงก็มาจากการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านจากค่าแรงที่สูงขึ้น

ดังนั้น เครดิตสวิส จึงมองว่า นโยบายดังกล่าวจะมีผลกระทบด้านการลงทุนเชิงลบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยในช่วง 6-12 เดือน เครดิตสวิสคาดการณ์ว่า นโยบายกระตุ้นเศษฐกิจจะสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนในเรื่องความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย จึงคาดว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนมากกว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นเครดิตสวิส จึงแนะนำ  Underweightหรือลดการลงทุนในประเทศไทยโดยรวม

ทั้งนี้ เครดิตสวิส ได้มองถึงผลกระทบที่มีต่อหุ้นจะมีความแตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชารัฐ ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทที่ปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภค และอสังหาริมทรัพย์ระดับล่าง

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายประชารัฐ ประกอบด้วย กลุ่มที่ปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจ SMEs กลุ่มรับเหมา และกลุ่มอาหาร ส่วนกลุ่มค้าปลีกจะได้รับทั้งผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก

Back to top button