จับตา! 7 ผู้ประกอบการโทรคมนาคม จ่อยื่นร้อง “บิ๊กตู่” ปมผูกขาดท่อร้อยสายไฟลงดินพรุ่งนี้

จับตา! 7 ผู้ประกอบการโทรคมนาคม จ่อยื่นร้อง "บิ๊กตู่" ปมผูกขาดท่อร้อยสายไฟลงดินพรุ่งนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ปรากฏตามข่าวต่อสาธารณะว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นได้อนุญาตให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ซึ่งเป็นบริษัทในความควบคุมของกรุงเทพมหานครดำเนินการตาม “โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร

โดยปรากฏว่าบริษัทกรุงเทพธนาคม ได้ทำการคัดเลือกโดยให้มีการยื่นข้อเสนอ และปรากฏว่ามีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเอกชนเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอ คือ บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคมอนุญาตให้เอกชนรายนั้นแสวงหาประโยชน์จากท่อร้อยสายของรัฐไปโดยปริยาย แสดงให้เห็นถึงการให้สิทธิ์ผูกขาดเอกชนรายในรายหนึ่งเพียงรายเดียว

ล่าสุด ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) จึงเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) เวลา 14.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้พิจารณาให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายมีโอกาสเข้าถึงบริการท่อร้อยสายสื่อสารของหน่วยงานของรัฐโดยตรง

อนึ่ง วันนี้ (26 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายเอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจในกำกับของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงข่าวกรณีโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของกรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ว่า บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้สัมปทานบริหารท่อร้อยสาย 30 ปีไม่เป็นความจริง เพราะทรูเป็นเพียงผู้ใช้บริการท่อเท่านั้น ตัวท่อและทรัพย์สินอื่นเป็นของเคทีเหมือนเดิม ส่วนระยะเวลา 30 ปี เป็นระยะเวลาที่ให้ทรูใช้ท่อนี้ได้ ไม่ได้ยกให้บริหารแต่อย่างใด ซึ่งการหาตัวเอกชนผู้จะมาใช้บริการนั้น เมื่อวางท่อ EPC แล้ว ก็ต้องเปิดประกวดราคาหาผู้ใช้บริการความจุส่วนใหญ่ โดยกระบวนการสรรหาผู้ใช้บริการหลักนั้นได้เปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 9 ราย

อีกทั้งเคทียังได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย ปรากฏว่ามีผู้รับเอกสารเชิญชวน 16 ราย แต่มีเพียง 1 รายที่ยื่นข้อเสนอ คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562

สำหรับผู้ที่จะมาเช่าช่วงต่อกับ บจ.ทรู ก็สามารถรวมกลุ่มมาได้ ไม่จำเป็นต้องมารายเดียว ส่วนค่าเช่าท่อ ยังไม่ได้ประกาศออกมา เพราะอยู่ระหว่างหารือกับ กสทช.เรื่องการกำหนดราคาที่เหมาะสม ทางทรูจะต้องจัดเก็บตามอัตราค่าเช่าที่ กสทช.กับเคทีจะประกาศออกมา

“ยืนยันว่าจะไม่มีการผูกขาดอย่างแน่นอน เพราะการดำเนินงานเป็นการทำตามกฎหมายของ กสทช.เป็นหลักอยู่แล้ว อีกทั้งท่อเดิมของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) มีใช้งานอยู่แล้ว กทม.ไม่ไปยุ่ง สามารถใช้งานต่อได้ แต่ไม่ให้ขยายโครงข่ายเท่านั้น”

ด้าน นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวดำเนินงานตามนโยบายของ กทม. และที่ให้เคทีทำเพราะเคทีมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า สำหรับแผนงานสำคัญๆ มี 2 แผนงาน คือ 1.การหาผู้รับเหมางานวางท่อ (Engineering-Procurement-Construction : EPC) เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาได้ผู้รับเหมาครบทั้ง 4 โซน ระยะทางรวม 2,450 กม. มูลค่าโครงการ 20,000 ล้านบาทแล้ว แบ่งเป็นโซนที่ 1 กรุงเทพเหนือ 16 เขต 620 กม. มีกิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

โซนที่ 2 กรุงเทพตะวันออก 14 เขต ระยะทาง 605 กม. มีกิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก โซนที่ 3 กรุงธนเหนือ 15 เขต ระยะทาง 605 กม. มีกิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และโซนที่ 4 กรุงธนใต้ 18 เขต ระยะทาง 620 กม. มีกิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

Back to top button