‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ สู่โลกเปลี่ยนแปลง

จากวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านซัพพลายจากการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตและปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม จึงเกิดนวัตกรรมที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

จากวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านซัพพลายจากการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตและปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม จึงเกิดนวัตกรรมที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม

นั่นคือ Circular Economy หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ถือเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียที่ใช้หรือบริโภคแล้ว นำกลับมาเป็นทรัพยากรที่ใช้หมุนเวียน เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Reprocess) การออกแบบใหม่ (Redesign) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การใช้ซ้ำ (Reuse) ตลอดจนการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) ที่เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาสหภาพยุโรป มีการนำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Package) มาใช้ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถการแข่งขันและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

โดยบริษัท Accenture ประเมินว่าระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ จะทำให้เกิด Circular Advantage จากโมเดลทางธุรกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมการผลิตและบริโภคที่ล้ำสมัย ทั้งกระบวนการผลิต การกระจายสินค้าและบริการ และการจัดการขยะและของเสียและสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจมากถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

สารตั้งต้นสำหรับแนวคิด Circular Economy  อยู่บนหลักการ 3 ข้อ นั่นคือ 1)การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ 2)การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ 3)การรักษาประสิทธิภาพของระบบด้วยการระบุและลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุด เป็นผลให้ “ระบบเศรษฐกิจไร้ขยะ” การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ราคาสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง..

หลายประเทศทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ Circular Economy เพื่อแก้ไขวิกฤตทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ อาจไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ เนื่องจากอาจพบอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆอาทิ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่นิยมบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้ามือสอง, ต้นทุนการปรับกระบวนการผลิตที่สูงและความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ, ซัพพลายของพลังงานสะอาดที่มีไม่เพียงพอ และศักยภาพแรงงานฝีมือไม่ทัดเทียมเทคโนโลยีการผลิตที่รุดหน้า

ดังนั้นโจทย์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อยู่ที่ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ที่สำคัญแรงสนับสนุนเชิงนโยบายจากนโยบายของภาครัฐ หรือ “จากบนสู่ล่าง” และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภาคธุรกิจและผู้บริโภค หรือ “จากล่างสู่บน” นั่นเอง

หัวใจสำคัญคือ “ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน” เพราะหากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้..การเปลี่ยนผ่านย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน..!!

Back to top button