PTT มองผลงานครึ่งปีหลังฟื้น-ปรับแผนรับมือสงครามการค้า ฉวยโอกาสบาทแข็งลงทุน 3 หมื่นลบ.

PTT มองผลงานครึ่งปีหลังฟื้นหลังปรับแผนรับมือสงครามการค้า ฉวยโอกาสบาทแข็งลุยโครงสร้างพื้นฐาน 3 หมื่นลบ.


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้อาจจะต่ำกว่าระดับ 1.2 แสนล้านบาท หลังครึ่งแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิ 5.53 หมื่นล้านบาท ลดลงราว 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมาร์จิ้นธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีลดลง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของปีนี้มองว่าผลงานน่าจะทรงตัวถึงดีขึ้น จากการที่ได้ปรับตัวรับมือกับสงครามการค้าที่ยังไม่มีความแน่นอน และเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ขณะที่จะได้รับประโยชน์จากการที่บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้เข้าซื้อหลายกิจการก่อนหน้านี้ก็จะรับรู้ผลการดำเนินงานกลับเข้ามา

ขณะเดียวกันในด้านธุรกิจหลัก ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบ ช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะอยู่ 65-68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ย  65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนค่าการกลั่นน่าจะดีขึ้นจาก 3.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) ธุรกิจปิโตรเคมียังมีแนวโน้มอ่อนตัว ส่วนธุรกิจค้าปลีกก็มีการขยายไปยังภูมิภาคอินโดจีนมากขึ้น

“ไตรมาส 2 เกือบจะ worst ลงไปสุดเลย ก็คิดว่าจะไม่ลงสุดแบบนี้แล้ว แต่ถ้าเรายืนได้ในไตรมาส 3 และ 4 เราสามารถยืนอยู่ได้ในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งปีเราไม่เสียหายมากเพราะเราได้ปรับตัวไปเยอะมาก เรามี portfolio ที่ค่อนข้างบาลานซ์ 25-35% ใน 3-4 portfolio ที่ค่อนข้างนิ่งและไม่ขึ้นลงกับการขึ้นลงของสเปรด และราคาน้ำมันมากแล้ว  เรามีพอร์ตเรื่องไฟฟ้าและค้าปลีกมากขึ้น คือพยายามปรับมาสัก 2 ปีแล้ว และเราไม่มีการด้อยค่า หรือถ้ามีก็น้อยมากในปีนี้ คือสิ่งที่เรามั่นใจในครึ่งปีหลังและจะมีผลต่อทั้งปี…เชื่อว่าผลงานคงจะไม่ต่ำเหมือนเมื่อปี 2015 ที่กำไรลดลงเหลือ 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็คงอยู่ในช่วงที่เหมาะสม แต่คงไม่ถึงเท่ากับปีที่แล้ว”นายชาญศิลป์ กล่าว

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้บริษัทปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของสงครามการค้า ก็จะหันไปหาตลาดใหม่ๆเพิ่มเติม ขณะที่การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ของ PTTEP ก็จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในพอร์ตก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และการขยายในรูปแบบของ Gas to power ตลอดจนเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ได้รายได้กลับเข้าเร็ว อย่างโครงการผลิตไฟฟ้าที่จะเข้าระบบในปีนี้ของบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และทำให้เกิดการ Snergy กับบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) โดยเร็ว

นอกจากนี้ก็จะเร่งการลงทุนที่ตัดสินใจไปแล้ว ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อให้แล้วเสร็จและสามารถรับประโยชน์ได้ทันในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น โดยในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผน อย่างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ,คลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ,การลงทุนในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นต้น  คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ใช้ไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมถึงบริษัทในกลุ่มของปตท.ก็จะเดินหน้าลงทุนที่มีอยู่ตามแผนงานด้วย ขณะที่จะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมกับหารายได้เข้ามามากขึ้น

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.ในช่วง 10 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ในปี 73 ซึ่งมีแผนจะมีพอร์ตผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด (clean fuel) 8,000 เมกะวัตต์ โดยเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดมาจากทั้งก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน

ขณะที่บริษัทมีแผนจะลดพอร์ตการลงทุนธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซีย หลังจากที่มองทิศทางระยะยาวความต้องการใช้ถ่านหินจะลดลงมากตามเทรนด์ของโลกที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาด และธุรกิจไฟฟ้าที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลดพอร์ตลงทุนดังกล่าว อาจจะเป็นการนำบริษัทที่ทำธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือหาพันธมิตร หรือการขายออกไป ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีความชัดเจนเมื่อใด

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ที่กลุ่มปตท.เข้าร่วมลงทุนนั้น คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไม่เกินไตรมาส 4/62 และจะสามารถเริ่มลงทุนในปี 63

นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ ยืนยันว่าบริษัทยังเดินหน้าแผนผลักดัน บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนรองรับการขยายงานในอนาคต แต่เนื่องจาก ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะยังมีหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นำ OR เข้าตลาดหุ้นในช่วงเวลาเหมาะสม

 

Back to top button