PLE บวก3% คาดผลงานไตรมาส 4 สดใส หลังตุนแบ็กล็อกแน่น1.3หมื่นลบ.-เดินหน้าประมูลงานต่อเนื่อง

PLE บวก3% คาดผลงานไตรมาส 4 สดใส หลังตุนแบ็กล็อกแน่น1.3หมื่นลบ.-เดินหน้าประมูลงานต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 15.05 น. ราคาอยู่ที่ 0.96 บาท บวก 0.03 บาท หรือ 3.23% สูงสุดที่ 0.99 บาท ต่ำสุดที่ 0.93 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.34 ล้านบาท 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE ล่าสุด ณ เวลา 15.05 น. อยู่ที่ 0.96 บาท บวก 0.03 บาท หรือ 3.23% สูงสุดที่ 0.99 บาท ต่ำสุดที่ 0.93 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.34 ล้านบาท 

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวเิคราะห์ (26 ก.ย.2562) คำแนะนำ ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ (Not Rated) คาดไตรมาส 4/62 กลับมาผงาดหลังกำไรครึ่งปีแรก 2562 ลดลงถึง 34% และกำไรไตรมาส 3/62 ก็ยังมีแนวโน้มจะเป็นเช่นเดิมแต่บริษัทคาดว่าในงวดไตรมาส 4/62 จะมีการบันทึกรายได้มาก ส่วนใหญ่จากอาคาร SAT-1 ที่สุวรรณภูมิจนประมาณการกำไรสุทธิปีนี้พลิกมาโต 17% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เป็น 261 ล้านบาท ตามที่ประเมินหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจมีการเก็งกำไรได้ เพราะ P/E ปี 62 เป็นเพียง 4.9 เท่า ถูกเทียบกลุ่มรับเหมาเฉลี่ยที่ 18 เท่า P/BV ที่เพียง 0.5 เท่า และคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลปีนี้ที่สูงมากเป็น 9.9%

อีกทั้งมีโอกาสได้งานปีหน้าอีกมาก คาดรายได้ก่อสร้าง 4 เดือนสุดท้ายขยับขึ้น ปัจจุบันรายได้มาถึง 4,200 ล้านบาท ใน 8 เดือนแรกปีนี้ บริษัทคาดว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายปีนี้จะขยับไปถึง 4,800 ล้านบาท โครงการสำคัญที่ให้รายได้คือ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1: Midfield Satellite Building-1) ซึ่งจะมีการรับรู้รายได้ที่มากในงวดไตรมาส 4/62 ราว 2.1-2.4 พันล้านบาท ขณะที่กำหนดการแล้วเสร็จสำหรับอาคารนี้เป็น เม.ย.63

โดย PLE รับงาน SAT-1 ทั้งบริษัทเอง และบริษัทร่วมทุน (JV) ที่รับงานเอง เป็นส่วนวางระบบ 4,000 ล้านบาท งานในส่วนของ ไชน่า เสตทฯ เป็น 5,600 ล้านบาท และงานในนามบริษัทร่วมทุนไทย-จีน อีกราว 2-3 พันล้านบาท ทั้งนี้งานในส่วนวางระบบของ PLE เอง มีอัตรากำไรขั้นต้นราว 8% ในงานในส่วน JV จะเป็นการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น งวงช้าง บันไดเลื่อน อัตรากำไรขั้นต้นจึงไม่มากราว 1-2% ดังนั้นในอนาคตจึงอาจมีส่วนขาดทุนเข้ามาในรายการขาดทุนตามส่วนได้เสีย ซึ่งอาจไปลดทอนกำไรของ PLE บางส่วน น่าจะเกิดในช่วงปลายโครงการ ทั้งนี้บริษัทถือหุ้นใน JV ที่ 51%

ขณะที่งานก่อสร้างในมือ (Backlog) เป็น 13,000 ล้านบาท ณ 31 ส.ค.62 งานขนาดใหญ่คือ งานก่อสร้างโรงผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ขององค์การเภสัชกรรม มูลค่างาน 5,264 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี บริษัทคาดว่าจะรับรู้ในปี 63 ได้ราว 6 พันล้านบาทจาก Backlog และรับงานเพิ่มระหว่างปี 63 อีก เพื่อให้บรรลุเป้ารายได้ปี 63 ที่ 10,000 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จากปี 62

สำหรับงานที่มีโอกาสได้ในปี 63 ไม่ว่าผู้รับเหมาหลักจะเป็นใครได้ในงานรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน บริษัทก็คาดว่าจะมีโอกาสได้เป็นผู้รับเหมาช่วงงานในส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงและเข้าจอดรถไฟฟ้า (Depo) คาดว่าจะมีมูลค่างานราว 10,000 ล้านบาท เพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองกลุ่มบริษัท อีกทั้งบริษัทมีประสบการณ์ทำงานประเภทนี้มาก เช่น สายสีส้ม เสร็จไปแล้ว กำลังทำสายสีชมพู ที่มีนบุรี และในอนาคตมีโอกาสได้งานสายสีเหลืองอีก นอกจากนี้บริษัทกลับมาเน้นลูกค้ารายใหญ่ๆ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย เช่น กลุ่ม TCC กลุ่ม The Mall และเซ็นทรัล ในส่วนโครงการ mix use นอกจากนี้งานคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูป เช่น FPT ก็พยายายจะเข้าไป

อีกทั้งมีโอกาสได้กำไรพิเศษจากกรณีเทคเนอร์ และมีเงินสดจากค่าก่อสร้างเพิ่ม บริษัทเคยร่วมทุนกับเทคเนอร์ทำโครงการบ้านเอื้ออาทร แต่ในที่สุดกลับมีเรื่องฟ้องร้องทางศาล ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งสำรองดอกเบี้ยจ่ายให้กับเทคเนอร์จำนวน 580 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 15% ตามสัญญา แต่กำลังรอศาลฯตัดสินสุดท้าย ซึ่งปกติจะคิด อัตราดอกเบี้ย 7.5% หากเป็นเช่นนั้นบริษัทจะบันทึกรายการกลับมาเป็นกำไรราว 300 ล้านบาท (Write Back) กำลังรอผลศาลฯ นอกจากนี้บริษัทจะมีกระแสเงินสดดีขึ้น เพราะได้รับชำระค่าก่อสร้างจาก ม.วิไลลักษณ์ ราว 400 ล้านบาท ด่านศุลกากรสะเดา 200 ล้านบาท ในช่วง ต.ค.-พ.ย.62 นี้

อย่างไรก็ดี อาจมีการเก็งกำไรได้ เพราะ P/E ปี 62 เป็นเพียง 4.9 เท่า ถูกเทียบกลุ่มรับเหมาเฉลี่ยที่ 18 เท่า P/BV ปี 62 ที่เพียง 0.5 เท่า และคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลปีนี้ที่สูงมากเป็น 9.9% เมื่อคิดอัตราการจ่ายปันผลที่ 48.4% เท่าปีที่แล้ว อีกทั้งมีโอกาสได้งานปีหน้าอีกมาก ทดสอบประเมินราคาพื้นฐานด้วย P/E เฉลี่ยในช่วง 6-7 เท่า จะได้ราคาพื้นฐานที่ 1.14-1.33 บาท ถือว่าราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ต่ำเกินไป (Undervalue) คาดว่าเป็นเพราะภาวะอุตสาหกรรมที่ซบเซาลง

 

 

Back to top button