ครม.เศรษฐกิจเคาะ 16 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว! เน้นดึงต่างชาติเข้าไทย

ครม.เศรษฐกิจเคาะ 16 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว! เน้นดึงต่างชาติเข้าไทย


นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 16 มาตรการ โดยรอบนี้เน้นมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพื่อให้จำนักท่องเที่ยวได้ตามเป้า 39.8 ล้านคนในปีนี้ หลังช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.62) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 26.5 ล้านคน

ดังนั้น ช่วง 4 เดือนที่เหลือยังต้องการอีกกว่า 13 ล้านคน ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวทั้งปี 62 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2.04 ล้านล้านบาทนั้น พบว่า ช่วง 8 เดือนแรกทำได้แล้ว 1.3 ล้านล้านบาท ยังขาดอีก 7.5 แสนล้านบาท

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” ที่เปิดตัวกันมาระยะหนึ่งจะได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนคนไทยเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และหลายฝ่ายมองว่ายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

วันนี้กระทรวงฯ จึงได้เสนอ 16 กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อเป็นแนวทางกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จัดเป็นมาตรการระยะสั้นจำนวน 11 กิจกรรม และมาตรการระยะกลางและระยะยาว จำนวน 5 กิจกรรม

มาตรการหลัก แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. มาตรการด้านการเงิน การคลังและกฎหมาย 2. มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 3. มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้น มีทั้งหมด 11 กิจกรรม ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน  ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาวนั้น มี 5 กิจกรรม ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน -1 ปี

“จะเห็นว่าทุกมาตรการที่เสนอมาข้างต้นจะมีขอบข่ายพันธกิจที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ตลอดถึงผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนอีกมากมาย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงจำเป็นต้องประสานงานขอความร่วมมือทำงานกันแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้สื่อสารทำความเข้าใจในรายละเอียดและแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกันต่อไป

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาสร้างความรับผิดชอบร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผมเชื่อมั่นว่าหากทุกมาตรการสามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามที่เราได้วางแผนไว้ จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย กระจายรายได้ไปยังชุมชนท้องถิ่น เป็นการสร้างโอกาสสร้างรายได้ เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างมหาศาล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะไม่ใช่องค์กรที่สร้างรายได้แต่เพียงอย่างเดียวแต่เราจะร่วมพัฒนาคน พัฒนาประเทศไทยไปพร้อมๆ กันด้วย” รมว.พิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

*มาตรการระยะสั้นภายในปี 62

มาตรการด้านการเงินการคลัง และกฎหมาย ได้แก่

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT Refund ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเพิ่มร้านค้าที่สามารถรอทำรายการคืน VAT Refund เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่เมือง แคืนภาษีในรูแบบเงินสด ณ จุดขาย ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

ทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ได้แก่ มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

การหักรายจ่าย 2 เท่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

1.การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวด้านมาตรกาการตรวจลงตราวีซ่า 3 ฉบับ คือ 1. Double Entries Visa 2. Re-entry Permit และ 3. หลักเกณฑ์ด่านบก ที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวีนที่ 13 พ.ย.61

2.การขยายเวลาการเปิดด่านชายแดนจาก 8.30-16.30 น.เป็น 24 ชม.ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดยาว จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย และด่านชายแดนไทย-ลาว ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน และติดตามประเมินผล

3.ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศในการเร่งรัดการใช้ระบบ E-Visa ให้ครอบคลุมกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วประเทศ

4.ขอความร่วมมือเร่งประชาสัมพันธ์ระบบ E-VoA ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูล ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

5.ทบทวนข้อกฎหมายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมถือบัตรเครดิตหรือการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 3 เดือน

3.มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย

3.1 โครงการ Amazing Thailand Grand Sale “Passport privileges” ดำเนินการตั้งแต่ 1 พ.ย.62-31 ม.ค.63 ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

3.2 โครงการประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ กระตุ้นบริษัทโดยการให้ Voucher 20,000 บาทต่องาน/กลุ่ม เพื่อกระตุ้นการจัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการ 3-6 เดือน

3.3 ส่งเสริมการจัดประชุมภาครัฐ โดยขอความร่วมมือให้จัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

ส่วนแผนระยะกลาง-ระยะยาว (ปี 63 เป็นต้นไป)

1.มาตรการด้านการเงินการคลังและกฎหมาย

การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสถานพักแรม และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการสถานพักแรม ในการปรับปรุงสถานประกอบการและบริการให้มีมาตรฐาน ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน

2.มาตราการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านความปลอดภัย และลดจำนวนการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลก ทั้งในส่วนที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ/หรือมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย

การจัดกิจกรรมมหกรรมระดับโลก หรือกิจกรรมขนาดใหญ่ (World Event / Mega Event) เช่น การจัดงานวิ่ง Trail/Ultra Trail , งาน Amazing Thailand Marathon Series , งาน Moto GP, Super GT,การแข่งขันจักรยาน Tour de Farnce, มหกรรมด้านนันทนาการ อาทิ คอนเสิร์ต Tomorrow Land, EDC (Electric Daisy Carnival), Ultra Music Festival, มหกรรมด้านความงาน สุขภาพ และสาธารณสุข อาทิ World Cannabis Expo, World Health&Wellness Expo ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน-1 ปี

การดึงเงินประชุมองค์กรจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการจัดงานชนาดใหญ่หรืองานที่มีผลกระทบสูง รวมถึงการกระจายพื้นที่จัดงานไปสู่ภูมิภาค ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน-1 ปี

Back to top button