CKP เดินเครื่องโรงไฟฟ้า “ไซยะบุรี” ครบ 1,220MW วันนี้ จับตางบฯไตรมาส 4 โตกระฉูด!

CKP เดินเครื่องโรงไฟฟ้า "ไซยะบุรี" ครบ 1,220MW วันนี้ จับตางบฯไตรมาส 4 โตกระฉูด!


นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ในวันนี้ (29 ตุลาคม 2562) เป็นต้นไป บริษัทฯ จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)  ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจาก กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมของโรงไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาท ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เพื่อใช้ภายในสปป.ลาว

โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐบาลสปป. ลาว ให้แก่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CKPower มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นรวม 135,000 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกให้ กฟผ.เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งการทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด (Joint Test) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีเสถียรภาพสูง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน กรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง

โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัย ด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำมีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นการศึกษาและพัฒนาให้เหมาะกับพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในขณะนี้

อนึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CK Power Public Company Limited) 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos)  20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)  (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5%

ขณะที่ CKPower ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย  โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่านบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์

อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์ (MW) จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 29 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ และขายให้กับการไฟฟ้าของ สปป.ลาว จำนวน 60 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทได้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวในสัดส่วน 37.50%

ทั้งนี้ คาดว่าการ COD ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะเป็นปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิในปี 63 จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับตัวเลขสองหลัก หรือไม่ต่ำกว่า 10% จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในปี 63 เต็มปี ทำให้อัตรากำไรสุทธิในปี 63 จะเพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 7% และในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในตัวเลขหลักเดียว

ด้าน นางมัณฑนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนธุรกิจ CKP กล่าวว่า รายได้จากการ COD ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีเต็มปีคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท โดยที่รายได้ในแต่ละไตรมาสของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีอาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและปริมาณการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วง โดยในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงหน้าน้ำ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำที่มาก ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากตามไปด้วย ส่งผลให้รายได้ในไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่บริษัทประเมินว่าโรงไฟฟ้าจะมีรายได้มากที่สุดของปี ส่วนอัตรากำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีทั้งปีคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15%

ขณะที่ นายธิติพัฒน์ นานานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงินบัญชี CKP กล่าวว่า รายได้ในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 9,000-10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 61 ที่มีรายได้ 9.15 พันล้านบาท โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 4.7 พันล้านบาท ซึ่งรายได้ในปีนี้ได้ปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ขนาดกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ เป็นหลัก แม้ว่าในไตรมาส 3/62 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าระบบจำนวนน้อย รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากสำรองไว้เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า และในช่วงไตรมาส 4/62 การเริ่ม COD ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในช่วงปลายเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ จะเข้ามาสนับสนุนกำไรเป็นหลัก จากการบันทึกส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นเข้ามา

โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาวและเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านภูมิศาสตร์ของแหล่งน้ำที่สามารถเข้าไปลงทุนได้ โดยที่การลงทุนในลาวจะมองไปที่ลาวตอนบนของแม่น้ำโขง ที่เป็นช่วงที่ยังมีความลาดชันของเส้นทางน้ำ ส่วนในเมียนมา บริวณที่น่าสนใจจะอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวิน ซึ่งถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุน เพราะมีปริมาณไหลของน้ำมาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวนที่มากตามไปด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังสนใจการลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าประเภท SPP ตามแผน PDP2018 ของกระทรวงพลังงาน เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งของบริษัทในปี 68 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ 2,167 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 939 เมกะวัตต์ ซึ่งสัดส่วนของโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มากกว่า 50% ยังคงเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นหลัก

Back to top button