อย่าบิดเบือน ILO

คนไทยทั้งประเทศถูกรัฐบาลทำให้เข้าใจว่า อนุสัญญา ILO 87, 98 คือการให้สิทธิแรงงานพม่า เขมร ลาว แล้วไอ้กันมันเสือกอะไร ในเมื่อทรัมป์ก็ไล่ตะเพิดแรงงานต่างด้าว


ทายท้าวิชามาร

ข้ออ้างของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP เพราะไทยไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98 ถูกยกมาปั่นกระแสชาตินิยมอีกแล้ว “หม่อมเต่า” ลั่นวาจา ประเทศใครประเทศมัน ยอมให้คนต่างด้าวนับล้านตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้

คนไทยทั้งประเทศถูกรัฐบาลทำให้เข้าใจว่า อนุสัญญา ILO 87, 98 คือการให้สิทธิแรงงานพม่า เขมร ลาว แล้วไอ้กันมันเสือกอะไร ในเมื่อทรัมป์ก็ไล่ตะเพิดแรงงานต่างด้าว

แต่ถ้าค้น Google ย้อนดูข่าววันที่ 1 พ.ค.ทุกปี จะเห็นแรงงานไทยนี่แหละ ชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลรับอนุสัญญา 87,98 ซึ่งเรียกร้องกันมาร่วม 30 ปีแล้ว จึงควรเข้าใจเสียให้ถูกต้อง นี่คือข้อเรียกร้องของแรงงานไทย ไม่ใช่ต่างด้าว เพียงแต่ต่างด้าวจะได้อานิสงส์ด้วยเท่านั้น

อนุสัญญา 87,98 เป็น 2 ใน 8 ฉบับหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 แต่เพิ่งให้สัตยาบันแค่สิบกว่าฉบับจาก 185 ฉบับ โดยระหว่าง พ.ศ.2512-2542 ไม่ยอมให้สัตยาบันสักฉบับ ทั้งที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรม

ในอนุสัญญาหลัก 8 ฉบับ ไทยให้สัตยาบันไปแล้ว 6 ฉบับ ล่าสุดคือฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ ตามมติ ครม.เมื่อปี 2560 นี่เอง ส่วนอนุสัญญา 87 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน (ซึ่งจะรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย) และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง เรายังไม่เคยให้สัตยาบัน

ซึ่งเชื่อหรือไม่ ปัจจุบัน สมาชิกอาเซียนมี 3 ประเทศคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ให้สัตยาบันครบแล้วทั้ง 8 ฉบับ มาเลเซีย สิงคโปร์ 5 ฉบับรวมทั้ง 98 แต่ยังไม่รับ 87 เวียดนาม ลาว 5 ฉบับ เดิมยังไม่รับ 87,98 แต่ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เอง เวียดนามแซงหน้าไทยรับฉบับที่ 98 ไปก่อน เพื่อเข้า TPP และข้อตกลงฟรีเทรดกับอียู

แน่ล่ะ บางประเทศก็มีปัญหา ละเมิดสิทธิแรงงานอยู่เห็น ๆ ไทยอาจดีกว่าด้วยซ้ำ แต่เขารับไปแล้วไง อยู่ที่กลไกการตรวจสอบว่าทำได้จริงหรือเปล่า

บางคนอาจสงสัย กฎหมายแรงงานไทยก็มี สหภาพแรงงานก็มี ทำไมยังว่าเรายังไม่ให้สัตยาบัน ก็เพราะกฎหมายยังมีหลายข้อขัดอนุสัญญา ILO เช่น ลูกจ้างเอกชนกับรัฐวิสาหกิจรวมตัวเป็นองค์กรเดียวกันไม่ได้ (แยกแรงงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2534) ผู้ประกอบอาชีพอิสระ, รับงานไปทำที่บ้าน ตั้งสหภาพไม่ได้ สหภาพต้องมีสมาชิกร้อยละ 25 จึงจัดตั้งได้ ที่ปรึกษาต้องมาจากผู้จดทะเบียนกับกรมสวัสดิการฯ การนัดหยุดงานต้องจัดประชุมใหญ่มีมติเกินกึ่งหนึ่ง จึงหยุดงานได้ และรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจห้าม แม้ไม่ใช่บริการที่จำเป็น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสิทธิแรงงานไทยทั้งสิ้น ต่อสู้ต่อรองมาทุกรัฐบาล เช่นสมัยอภิสิทธิ์ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็น รมว.แรงงาน เคยรับปากจะผลักดันใน 5 เดือน โดยตั้งคณะทำงานประสานงานขึ้นจากทุกฝ่าย แต่สุดท้ายก็เงียบหาย ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีผล ยุครัฐบาลทหารยิ่งไปกันใหญ่ เพราะมองแต่ว่าแรงงานต่างด้าวจะตั้งสหภาพได้ เป็นภัยต่อความมั่นคง จนละเลยสิทธิแรงงานไทย ทั้งที่กรณีประมง ก็อุตส่าห์เอาใจอียูทุกอย่าง เช่นรับรอง C118 มาตรฐานเรือประมงแบบยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการโวยอื้ออึง

ที่น่าสังเกตคือ สภาอุตสาหกรรมก็ค้านทุกครั้ง ไม่ให้รับอนุสัญญา 87, 98 ซึ่งไม่ใช่เรื่องแรงงานต่างด้าวเท่านั้น กลัวสิทธิแรงงานไทยด้วย จึงยอมเสี่ยงให้ตัด GSP มากกว่า

มองมุมหนึ่งก็ใช่เลย ทรัมป์หน้ามืด จ้องตัด GSP ไทยอยู่แล้ว ใช้ ILO เป็นข้ออ้าง แต่มองอีกมุม ประเทศเพื่อนบ้านก็ทยอยรับ และไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เดี๋ยวอียู เดี๋ยวประเทศอื่นๆ รวมทั้งแรงงานไทย ก็จะกดดันให้รับเหมือนกัน

Back to top button