สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 พ.ย. 2562

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 พ.ย. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) ท่ามกลางภาวะซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐเปิดทำการซื้อขายเพียงครึ่งวันหลังจากที่ปิดทำการในวันพฤหัสบดีเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า โดยภาวะการซื้อขายยังคงถูกกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามอนุมัติกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมาก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,051.41 จุด ลดลง 112.59 จุด หรือ -0.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,140.98 จุด ลดลง 12.65 จุด หรือ -0.40% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,665.47 จุด ลดลง 39.70 จุด หรือ -0.46%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ภายหลังจากที่ทางการจีนออกแถลงการณ์เตือนสหรัฐว่า จีนอาจจะใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้ลงนามร่างกฎหมายสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.44% ปิดที่ 407.43 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,905.17 จุด ลดลง 7.54 จุด หรือ -0.13%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,236.38 จุด ลดลง 9.20 จุด หรือ -0.07% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,346.53 จุด ลดลง 69.90 จุด หรือ -0.94%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกับแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากสหรัฐอนุมัติกฎหมายสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งส่งผลให้ทางการจีนออกมาแสดงความไม่พอใจ และประกาศจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างรุนแรงกับการแทรกแซงกิจการภายในของจีน

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,346.53 จุด ลดลง 69.90 จุด หรือ -0.94%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐ-จีน และตลาดยังถูกกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐที่มีแนวโน้มแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ราคาน้ำมันยังคงปิดบวกเมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะตกลงกันในสัปดาห์หน้า เพื่อขยายเวลาปรับลดการผลิตน้ำมันต่อไปหลังจากเดือนมี.ค. 2563

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ร่วงลง 2.94 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 55.17 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค. ร่วงลง 1.44 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 62.43 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง และดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อคืนนี้

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 11.90 ดอลลาร์ หรือ 0.81% ปิดที่ 1,472.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 5.1 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 17.106 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ หรือ 0.56% ปิดที่ 900.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 4.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,810.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) ท่ามกลางภาวะซื้อขายที่เบาบางหลังวันหยุด โดยตลาดปิดทำการเมื่อวันพฤหัสบดีเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน อ่อนลง 0.06% สู่ระดับ 98.2705

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.46 เยน จากระดับ 109.52 เยน และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3273  ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3280 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9999 ฟรังก์ จากระดับ 0.9989 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1017 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1009 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2933 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2907 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าสู่ระดับ 0.6764 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6767 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button