ที่แท้ ‘ช้างสารชนกัน’

สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันในวันจันทร์ที่ผ่านมา ดูผิวเผินเหมือนเป็นการทำสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดกัน แต่ลึก ๆ แล้วนักวิเคราะห์มองว่า พวกเขากำลังทำสงครามกับอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)

สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันในวันจันทร์ที่ผ่านมา ดูผิวเผินเหมือนเป็นการทำสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดกัน แต่ลึก ๆ แล้วนักวิเคราะห์มองว่า พวกเขากำลังทำสงครามกับอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามการเปิดฉากทำสงครามราคาเป็นการปล่อยหมัดชกอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันได้ลดลงมากมาตั้งแต่วันศุกร์ และการปรับตัวลงของราคาน้ำมันอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมพลังงานขนาดเล็กของอเมริกาและทำให้สหรัฐฯ หลุดจากตำแหน่งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและซาอุฯ ได้เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียไม่ยอมตกลงลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ทำอยู่เพื่อตอบโต้ที่ดีมานด์น้ำมันลดลงอย่างรุนแรงเนื่องจากมีการเดินทางทั่วโลกลดลง และมีการกักตัวประชาชนหลายล้านคนเพราะไวรัสโคโรนา

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและซาอุฯ ได้เพิ่มมากขึ้นในวันศุกร์ที่ผ่านมาหลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรซึ่งนำโดยรัสเซีย ได้ยุติข้อตกลงที่ได้ร่วมมือกันลดกำลังการผลิตมานานกว่าสามปี

ซาอุดีอาระเบียตอบโต้ทันทีด้วยการลดราคาน้ำมันลงอย่างรุนแรงและยังประกาศเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงลึกไปอีก ส่วนฝั่งรัสเซียอ้างว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศจะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้และสามารถฝ่าฟันต่อการปรับตัวลงของราคาน้ำมันได้

เฮลิมา ครอฟต์  หัวหน้านักกลยุทธ์โภคภัณฑ์โลกของบริษัท อาร์บีซี มองว่า ในขณะที่ผู้นำโอเปกหวังว่าการล่มสลายของราคาน้ำมันจะเป็นตัวเร่งให้รัสเซียและซาอุฯ สมานฉันท์กันได้  แต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อาจจะไม่ยอมยกธงขาวโดยง่าย  ซึ่งอาจทำให้การต่อสู้ยืดเยื้อเนื่องจากกลยุทธ์ของรัสเซีย ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่บริษัทสหรัฐฯ ที่ผลิตน้ำมันในชั้นหินเท่านั้น แต่พุ่งเป้าไปที่นโยบายในการใช้มาตรการลงโทษที่ความอุดมสมบูรณ์ของพลังงานอเมริกันสามารถทำได้

ครอฟต์ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีปูตินได้รับอิทธิพลจากอิกอร์ เซชิน ประธานกรรมการบริษัท รอสเนฟต์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันใหญ่สุดของรัสเซีย  เซชินได้คัดค้านมานานต่อข้อตกลงลดการผลิตของโอเปกและไม่พอใจที่สหรัฐฯ มีมาตรการลงโทษต่อการค้าของรอสเนฟต์

รัสเซียยังไม่พอใจมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ที่ยับยั้งความพยายามของรัสเซียที่จะทำโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป “ Nord Stream 2”   สาเหตุที่สหรัฐฯ คัดค้านโครงการนี้เนื่องจากจะเพิ่มอิทธิพลให้รัสเซียในตลาดพลังงานยุโรป

คณะบริหารสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าต้องการให้การผลิตพลังงานของสหรัฐฯ พึ่งพาแหล่งพลังงานในต่างประเทศน้อยลง และไม่อายที่จะยอมรับว่า สหรัฐฯ มีความสามารถมากขึ้นที่จะประกาศมาตรการลงโทษต่อผู้ผลิตพลังงาน อย่างที่ได้ทำกับอิหร่านและเวเนซุเอลาไปแล้ว

เซชินก็เหมือนกับปูตินมีภูมิหลังมาจากหน่วยข่าวกรองรัสเซียและเป็นพวกชาตินิยมหัวรุนแรง  ดังนั้นการบั่นทอนอิทธิพลด้านพลังงานของอเมริกา ไม่น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่เขาให้มีความสำคัญ แต่มีเรื่องของอุดมการณ์ด้วยเช่นกัน

ดูเหมือนสหรัฐฯ ก็จะรู้อยู่ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ราคาน้ำมันล่มสลาย  กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ แถลงเมื่อค่ำวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ จะยังคงเป็นผู้ผลิตพลังงานเบอร์หนึ่งของโลกเพราะมีนโยบายที่สนับสนุนการเติบโต แต่ได้ย้ำว่า ความพยายามของรัฐต่าง ๆ ที่จะปั่นและทำให้ตลาดน้ำมันเกิดวิกฤติ สนับสนุนถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องมีบทบาทเป็นซัพพลายเออร์พลังงานที่สามารถเชื่อถือได้ต่อหุ้นส่วนและพันธมิตรทั่วโลก และสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่สุดของโลก จะทนทานต่อความผันผวนในครั้งนี้ได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า สงครามแย่งส่วนแบ่งตลาด อาจทำให้ราคาน้ำมันลดลงอีก 10% หรือมากกว่านั้น โดยอาจจะกระทบมากต่อภาคน้ำมันของสหรัฐฯ โดยบริษัทที่ขัดสนเงินอาจต้องลดการผลิตมากขึ้นหรือล้มละลายหรืออาจต้องควบรวมกัน ความไม่ไว้วางใจของนักลงทุนต่ออุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเกินกำลัง ได้ส่งผลให้ขาดเงินทุนสำหรับภาคน้ำมัน และการใช้จ่ายเงินทุนมีแนวโน้มที่จะจำกัดมากยิ่งขึ้น

แม้ยังไม่ชัวร์ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่นักวิเคราะห์แบงก์ ออฟ อเมริกา ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า แรงจูงใจในครั้งนี้น่าจะมีความสำคัญเมื่อตลาดเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากเป็นการทะเลาะเรื่องกลยุทธ์ระหว่างรัสเซียและซาอุฯ เท่านั้น ก็อาจจะมีผลกระทบในระยะสั้นและโอเปกอาจทำข้อตกลงใหม่ได้

อย่างไรก็ดี ในข้อเท็จจริงทางการเมือง สหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับตะวันออกกลางกว่าที่เคยเป็นน้อยลง และรัสเซียมีอิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาคในช่วงไม่กี่ปีมานี้ทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ  นักวิเคราะห์บางคนจึงมองว่า เป็นเรื่องที่ซาอุฯ ต่อต้านรัสเซียและรัสเซียต่อต้านสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า น้ำมันดิบเบรนต์ซึ่งได้ลงไปใกล้ 31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจจะลดลงไปถึง 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก่อนที่จะมั่นคงขึ้น จากที่สูงถึง 75.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อเดือนเมษายน 2562

การปรับตัวลงของราคาน้ำมันในปีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการผลิตในสหรัฐฯ ที่ใกล้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ และการส่งออกของสหรัฐฯ สูงถึงเป็นประวัติการณ์ 4.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ในขณะที่ซาอุฯ มีแนวโน้มอัดน้ำมันเข้าตลาดต่อไป นักวิเคราะห์คาดว่า ดีมานด์น้ำมันจะยังคงลดลงต่อไปซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน

ดีมานด์จากจีนได้ลดลงแล้วประมาณ 20% ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาและเนื่องจากอิตาลีประกาศปิดประเทศแล้ว และการเดินทางจะลดลงอีก ดีมานด์น้ำมันในยุโรปและในสหรัฐฯ ก็น่าจะลดลงเช่นกัน

โคโรนาไม่ได้เป็นตัวการเดียวที่ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานปั่นป่วนหนัก  แต่เป็นเพราะช้างสารชนกัน หญ้าแพรกจึงแหลกลาญไปทั่วโลก

Back to top button