TNR พุ่งกระฉูด 13 % คาดรับอานิสงส์ ”คาเร็กซ์” ผู้ผลิตถุงยางรายใหญ่ของโลกปิดโรงงาน 3 แห่ง

TNR พุ่งกระฉูด 13 % คาดรับอานิสงส์ ”คาเร็กซ์” ผู้ผลิตถุงยางรายใหญของโลกปิดโรงงาน 3 แห่ง


บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR  ณ เวลา 11.04 น. อยู่ที่ระดับ 5.90 บาท  บวก 0.70 บาท หรือ 13.46% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.19 ล้านบาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(30มี.ค.63) ว่า TNR คาดได้ประโยชน์จากผู้ผลิตในมาเลเซียหยุดผลิต โดยปริมาณผลผลิตถุงยางอนามัยลดลงจากมาเลเซียปิดประเทศ รัฐบาลมาเลเซียใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้บริษัทคาเร็กซ์ ผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดของโลกในมาเลเซียต้องปิดโรงงานผลิตถุงยางอนามัย 3 แห่งในมาเลเซียมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว เป็นเหตุให้ทั่วโลกขาดถุงยางอนามัยไปราว 100 ล้านชิ้น

ซึ่งปกติแล้วนำไปใช้ในหลายโครงการของรัฐ เช่น ระบบบริการด้านสาธารณสุขของอังกฤษ โครงการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ โครงการด้านมนุษยธรรมในแอฟริกา เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทคาเร็กซ์มีส่วนแบ่งการตลาดราว 20% ของโลก จำหน่ายภายใต้แบรนด์ดูเร็กซ์ บริษัทได้กลับมาผลิตอีกครั้งเมื่อ 27 มี.ค.63 แต่ก็ผลิตได้เพียง 50%

อาจเป็นข่าวดีกับ TNR ที่จะส่งออกถุงยางอนามัยได้มากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตถุงอนามัย 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (“โรงงานแหลมฉบัง”) และที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (“โรงงานปิ่นทอง”) จังหวัดชลบุรี โดยโรงงานแหลมฉบังมีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 426 ล้านชิ้นต่อปี และโรงงานปิ่นทองมีกำลังการผลิตติดตั้ง จำนวน 1,533 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมจำนวน 1,959 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจัดเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยที่มีกำลังการผลิตติดตั้งมากที่สุดในประเทศไทยและมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เกี่ยวกับตลาดผลิตภัณฑ์ TNR บริษัทจำหน่ายถุงยางอนามัยและเจลหล่อลี่นภายใต้แบรนด์ Onetouch (จำหน่ายในไทย, CLMV, อียิปต์) และ PLAYBOY (โดยได้สิทธิ์ขายและทำการตลาดจาก PLAYBOY 188 ประเทศทั่วโลก อายุสัญญา 10 ปี ต่ออายุอัตโนมัติทุกๆปี) และรับผลิต OEM ให้บริษัทเอกชนและองค์กร NGOs ในไทยและกว่า 100 ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีการประมูลงานผลิตถุงยางอนามัยจากองค์กรภาครัฐและเอกชนด้วย ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะนำไปแจกจ่ายทั่วโลก

ผลประกอบการและ Valuation ปี 62 บริษัทมีรายได้ 1.76 พันล้านบาท Core profit เท่ากับ 100 ล้านบาท (EPS : 0.33 บาท/หุ้น) ทรงตัวเมื่อเทียบ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนฐานะการเงินดี ณ สิ้นปี 62 มี D/E 0.6 เท่า มี BVS เท่ากับ 4.09 บาท ณ ราคาปัจจุบันมี Trailing P/E 15 เท่า และ P/BV 1.3 เท่า ลดลงจาก 4 ปีก่อนที่มี P/E กว่า 30 เท่า และ P/BV 3-9 เท่า

คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ – ระยะสั้นราคาหุ้นมีโอกาสรีบาวด์ หลังปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง  ทางบริษัทระบุว่าปี 63 เน้นธุรกิจ OBM (Original Brand Manufacturer) ซึ่งมาร์จิ้นดีกว่า OEM และงานประมูล บริษัทประสบความสำเร็จในการเจาะช่องทางห้างค้าปลีกวอลล์มาร์ท และช่องทางออนไลน์ผ่าน amazon.com ซึ่งเริ่มเห็นยอดขายที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส4/62 และอาจได้ประโยชน์จากการที่บริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในมาเลเซียผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกได้น้อยลงเพราะนโยบายรับมือ COVID-19 ของทางการมาเลเซีย

การวิเคราะห์ทางเทคนิค แนะนำให้ซื้อตามด้วยค่าบวกของราคาหุ้น/หรือซื้ออ่อนตัวแต่ไม่หลุด 5 บาท ให้แนวต้านระยะสั้น 5.5, 6.0-6.2 บาท (กรณีราคาหุ้นหลุด 5 บาท จะมีแนวรับย่อย 4.5 หรือต่ำกว่า)

Back to top button