จากโควิดสู่ Great Depression.?

ผลกระทบจาก “ไวรัสโควิด-19” ทำให้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ทะลุ 10 ล้านคน ถือเป็นสถิติการว่างงานมากสุดประวัติศาสตร์สหรัฐฯ “โกลด์แมน แซคส์” วาณิชธนกิจรายใหญ่ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ ไตรมาส 1/63 จะติดลบ 9% และไตรมาส 2/63 จะติดลบ 34% นั่นสะท้อนภาพชัดว่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เมื่อปีค.ศ. 1929


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ผลกระทบจาก “ไวรัสโควิด-19” ทำให้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ทะลุ 10 ล้านคน ถือเป็นสถิติการว่างงานมากสุดประวัติศาสตร์สหรัฐฯ “โกลด์แมน แซคส์” วาณิชธนกิจรายใหญ่ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ ไตรมาส 1/63 จะติดลบ 9% และไตรมาส 2/63 จะติดลบ 34% นั่นสะท้อนภาพชัดว่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เมื่อปีค.ศ. 1929

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ปมเหตุมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกประสบความเสียหายจากภัยพิบัติของสงคราม แต่ภัยพิบัติของสงครามสามารถฟื้นฟูประเทศ และระบอบเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผลิตของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดย เฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการบริการ

ช่วงเวลานั้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามมากนักเทียบประเทศอื่น ๆ มีส่วนช่วยให้ประเทศในยุโรปฟื้นตัวเร็ว เพราะจัดส่งสินค้าและสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบบการผลิตและอุตสาหกรรม รวมทั้งให้สินเชื่อและเงินช่วยเหลือจำนวนมากมาให้ประเทศต่าง ๆ

แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นช่วงระยะสั้น จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นเพียงการสร้างภาพแก่นักลงทุน โดยเฉลี่ยแต่ละปีราคาหุ้นปรับขึ้นประมาณ 22% ทำให้เกิดการลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก เพื่อหวังผลกำไรระยะเวลาอันสั้น (เก็งกำไร) แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มประสบปัญหา เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง การกู้ยืมมีมากและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการสินค้าเริ่มลดลง จนทำให้ผู้ประกอบการงดลงทุน เพราะเกรงว่าสินค้าที่ผลิตจะจำหน่ายไม่หมด

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1925 เป็นต้นมา ราคาหุ้นแกว่งตัวขึ้น-ลง อย่างรุนแรง นักธุรกิจและธนาคาร ไม่มั่นใจในตลาดหุ้นจึงพยายามเรียกคืนหนี้สินที่ปล่อยกู้ไปราคาหุ้น จึงดิ่งลงเรื่อย ๆ จนตลาดหุ้นวอลสตรีทของสหรัฐฯ ล้มลง เมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929

เหตุการณ์ดังกล่าวต่อมาเรียกว่า อังคารทมิฬ (Black Tuesday) ความเสียหายทางการเงินครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากจนธนาคารกว่า 1,000 แห่ง ต้องล้มละลายและมูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และขยายตัวไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

และนั่นคือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ที่เป็นบทเรียนจดจำกันมาถึงทุกวันนี้..!!

หลังจากนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกอีกหลายครั้ง อาทิ วิกฤติหนี้ยุค 1980 โดยยุคค.ศ. 1970-1980 ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่รุ่งเรืองเท่ากับอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยกลุ่มโอเปกที่มีอิทธิพลสูงสุด มีรายได้จากการขายน้ำมันดิบในรูปของดอลลาร์ (Petro Dollar) ภายใต้บรรยากาศอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถูกนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลตอบแทนสูง ผ่านสถาบันการเงินละตินอเมริกา แต่มีการเบี้ยวหนี้กับกลุ่มโอเปก จนกลายเป็นวิกฤติหนี้ดังกล่าว

จากนั้น “วิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997” โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวิกฤติต้มยำกุ้ง สาเหตุหลักคือการที่ไม่สามารถหลุดจากกับดัก Impossible Trinity โดยจอร์จ โซรอส และเฮดจ์ฟันด์ต่าง ๆ ใช้ประโยชน์ดังกล่าวโจมตีค่าเงินบาท เนื่องจากแบงก์ชาติมีสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่จำกัด จนต้องเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้เกิดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์จนเกิด “ฟองสบู่แตก” และทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวไป

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprim  Crisis) หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 2007-2008 เริ่มจากภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐอเมริกาแตก และการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวและทำให้ปัญหาทางการเงินนั้นแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลก

จาก “วิกฤติโควิด-19” จะนำไปสู่ Great Depression อีกครั้งหรือไม่..อย่าได้ประมาทเลยซะทีเดียว..!!

Back to top button