หุ้นปรับฐานตอนไหน ?

การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย กรอบเริ่มแคบลง


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย กรอบเริ่มแคบลง

จะวิ่งต่อไปอีกก็ไปไม่ได้

แนวต้านสำคัญคือบริเวณ 1,350 จุด เปรียบเสมือนเป็น “กำแพงเมืองจีน” เลยล่ะ

วานนี้ดัชนีปิดบวก 9.02 จุด มาที่ 1,345.11 จุด ได้ “พี่กอง” กับ “รายย่อย” เข้ามาช่วยดัน

ระดับดัชนีดังกล่าวทำให้ P/E ตลาดหุ้นไทยขึ้นมาอยู่ที่ 20-21เท่า

ปุจฉา ถามว่าแพงไหม?

วิสัชนา ตอบได้เลยว่า แพง (มาก)

หากย้อนกลับไปดูกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1/2563 ลดลงกว่า 50%

หรือเพลือเพียง 1.1 แสนล้านบาท (ลดลง 60%) เป็นตัวเลขน้อยมาก

นี่ยังนึกภาพกำไรสุทธิไตรมาส 2/2563 ที่เป็นช่วง บจ.ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ และจะส่งผลต่อรายได้และกำไรมากกว่าไตรมาสแรกด้วยนั้น

กำไรจะรูดลงไปเหลือเท่าไหร่

อีกมุมหนึ่ง

ช่วงนี้จะเริ่มเห็นนักลงทุนสถาบัน นักวิเคราะห์เริ่มขยับออกมาเตือน ๆ กันอีกครั้ง

ว่าตลาดหุ้นอาจจะ “ปรับฐาน” กันซักหน่อย

ทว่า ก็อาจจะเป็นการปรับฐานแบบเล็ก ๆ

หรือดัชนีอาจจะไม่ได้รูดลงหนัก ๆ เหมือนกับปรับฐานก่อนหน้านี้

สาเหตุเพราะการขยายหลักเกณฑ์ชั่วคราวเรื่อง ชอร์ตเซล, ซิลลิ่ง และฟลอร์ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์จากบล.ทรีนีตี้ ไว้ค่อนข้างน่าสนใจ

เพราะมีการระบุว่า การขยายเวลาหลักเกณฑ์ชั่วคราวทั้งชอร์ตเซล, ซิลลิ่ง-ฟลอร์ และช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาเสนอซื้อขายในแต่ละวัน หรือ Daily Price Limit ออกไป

จากเดิมสิ้นสุดไม่เกิน 30 มิ.ย.นี้

มาเป็นสิ้นสุดไม่เกิน 30 ก.ย. 63

มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า

การบังคับใช้มาตรการระดับราคาที่ขายชอร์ตจะต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายก่อนหน้า หรือ Uptick rule

ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีปรับขึ้นมาตลอดทางกว่า 300 จุด

และทำให้ดัชนีนั้น “ปรับฐานแรง ๆ” ยาก

แม้ว่ามูลค่า หรือ Valuation จะอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์!!!

มาตรการนี้ส่งผลทำให้ “มูลค่า” การชอร์ตเซลในตลาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะจากค่าเฉลี่ยที่อยู่วันละ 5,000 ล้านบาท (ก่อนออกมาตรการ)

กลับปรับตัวลงมาเหลือเพียง 1,000 ล้านบาท (หลังออกมาตรการ)

และในเดือนพ.ค.ล่าสุด เหลือเฉลี่ยเพียงแค่ 650 ล้านบาทต่อวันเท่านั้น

ทรีนีตี้ระบุว่าการขยายเวลามาตรการ Uptick rule ออกไปนั้นไม่ได้มีความจำเป็นมากเหมือนแต่ก่อน

เพราะหากตรวจสอบล่าสุด

พบว่าความผันผวน (Volatility) ของดัชนี ณ ขณะนี้ ได้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แล้ว

ดังนั้น หากตลาดหลักทรัพย์ฯ (เดินหน้า) ขยายเวลามาตรการนี้ออกไป

ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของดัชนีในช่วงถัดไป

เพราะจากเดิมคาดว่าดัชนีอาจจะมีการปรับฐานอย่างสำคัญหลังมาตรการ Uptick rule สิ้นสุดลงในไตรมาส 2

ก็อาจจะทำให้ช่วงเวลาของการปรับฐานถูกเลื่อนออกไปจากคาดการณ์เดิม

สรุปคือ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการนี้ออกไปอีก 3 เดือน

จะเป็นปัจจัยประคับประคองดัชนีที่สำคัญต่อไป

Back to top button