“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” หั่นเป้า GDP ไทยปี 63 หด 6% หลัง “โควิด” ฉุดภาวะศก.ทั่วโลกผันผวน

"ศูนย์วิจัยกสิกรฯ" หั่นเป้า GDP ไทยปี 63 อีก หด 6% หลัง "โควิด" ฉุดภาวะศก.ทั่วโลกผันผวน


น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่าจะหดตัวลึกขึ้นจากเดิมที่คาด -5% มาเป็น -6% แม้จีดีพีไตรมาสแรกของปี 63 จะออกมาดีกว่าที่คาด แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปีคาดว่าจะให้ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลึกขึ้น และจากปัญหาการจ้างงาน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นได้เร็ว แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 เพิ่มขึ้นมาแล้ว และจะมีการผ่อนคลายมาตรการออกมาเพิ่มเติมอีกในเดือนต่อๆไป แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่ของการเปิดให้บริการสถานที่ต่างๆเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนว่าหากมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยจะมีโอกาสมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาเป็นรอบ 2 หรือไม่

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของเศรษฐกิจในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยโควิด-19 ที่ในบางประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรอบ 2 ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯที่เผชิญกับความเสี่ยงหลายด้านในตอนนี้ ซึ่งหากเศรษฐกิจในต่างประเทศยังคงชะลอตัวจะมากระทบต่อเศษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะหดตัวลงเพิ่มขึ้นอีกเป็น -6.1% ในปี 63 จากเดิมที่คาดว่า -5.6%

ทั้งนี้ จากความไม่แน่อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยง และคาดว่าจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 ยังคงเห็นการหดตัว หรือติดลบต่อเนื่อง ทำให้กดดันต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 ที่ปรับประมาณการลดลงมาอยู่ที่ -6% จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ -5% โดยที่เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/63 คาดว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้

น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า หลังจากโควิด-19 เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การลงทุนต่างๆชะลอตัวลง ซึ่งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่ามีการเลื่อนออกไป โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจจะมีความล่าช้าในการลงทุนบางโครงการ

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังเห็นการระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ และการหันมาลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงของภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่พักแผนการลงทุนในปีนี้ออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์

ขณะที่ภาคการบริโภคครัวเรือนในประเทศยังคงมองว่ามีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงหลังจากนี้ แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/63 การบริโภคในประเทศจะเป็นบวกจากปัจจัยการสต็อกสินค้าในช่วงก่อนการล็อกดาวน์ที่เป็นปัจจัยหนุนชั่วคราว แต่หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้วปัจจัยชั่วคราวที่เข้ามาหนุนจะหายไป และเริ่มเห็นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมีแนวโน้มกลับมาชะลอตัว

ด้านปัจจัยที่กระทบต่อการบริโภคครัวเรือนในประเทศ เป็นเรื่องการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นมาแตะระดับ 1 ล้านราย จากเดิมที่อยู่ระดับ 400,000 ราย ซึ่งการที่มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อกำลังซื้อที่ลดลงไป และทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง

ทั้งนี้ แม้ว่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว แต่ข้อจำกัดของ Social Distancing และเศรษฐกิจในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดี ทำให้ภาคธุรกิจและนายจ้างยังไม่สามารถกลับมาจ้างลูกจ้างเข้ามาทำงานได้เหมือนก่อนช่วงเกิดโควิด-19 เนื่องจากยังคงต้องควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานยังคงมีจำนวนที่สูงอยู่

อย่างไรก็ตาม จะต้องรอติดตามว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังนี้อย่างไร หลังจากมีการเยียวยากลุ่มที่มีความเปราะบางในระยะแรกไปแล้วผ่านมาตรการในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งต้องติดตามว่าภาครัฐจะมีการจัดสรรเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น.ส.ณัฐพร มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ หลังจากล่าสุดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 0.5% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ โดยที่หากสถานการณ์ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น และกดดันต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ธปท.ยังสามารถลดอัตรดอกเบี้ยนโยบายลงมาได้อีก เพื่อประคองเศรษฐกิจไทย

ส่วนค่าเงินบาทที่ปัจจุบันแข็งค่าขึ้นรวดเร็วที่ระดับ 31.60 บาท/ดอลลาร์ เป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า หลังจากที่ตลาดมองว่าประเด็นมาตรการเพิ่มเติมของสงครามการค้าที่สหรัฐฯออกมาตรการมากระทบกับจีนไม่มีมาตรการเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดรับรู้ไปแล้วและมีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมา และในช่วงที่ผ่านมามีความต้องการเงินบาทมากจากผู้ส่งออกในประเทศที่มีการส่งออกสินค้าไปขาย และต้องแลกเงินบาทกลับมา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น

แต่ในระหว่างทางมองว่ายังมีความผันผวนอยู่จากความไม่แน่นอน แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้จากแนวโน้มของดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 63 ที่คาดว่ายังเป็นบวก ทำให้มีการดึงดูดเงินจากต่างชาติเข้ามาพัก ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้ในระดับ 31.5-32 บาท/ดอลลาร์

น.ส.ณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาวะปัจจุบันที่ทุกคนเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน จะเริ่มเห็นการให้ความสำคัญกับการออมมมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการฝากเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในช่วงตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีเงินฝากเข้ามาในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 4-5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยและรักษาเงินต้นในภาวะที่เกิดความผันผวนที่กระทบต่อการลงทุนอื่นๆ และเงินฝากถือเป็นช่องทางที่มีสภาพคล่องมากกว่าการนำเงินไปลงทุนในช่องทางการลงทุนอื่นๆ

Back to top button