AOT รับงวดปี 64 เสี่ยงขาดทุนเซ่น “โควิด” ฟากสภาพคล่องยังแน่น พร้อมลงทุนเพิ่ม 3 หมื่นลบ.

AOT รับงวดปี 64 เสี่ยงขาดทุนเซ่น "โควิด" ฟากสภาพคล่องยังแน่น พร้อมลงทุนเพิ่ม 3 หมื่นลบ.


นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในงวดปี 64 (ต.ค.63-ก.ย.64) มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน หลังจากช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค.63- ม.ค.64) ซึ่งปกติเป็นช่วงไฮซีซั่น มีแนวโน้มที่จำนวนผู้โดยสารจะลดลงมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับงวดปี 63 บริษัทมีผลประกอบการที่ดีในช่วงเวลาดังกล่าว จึงคาดว่าในงวดปี 62/63 จะไม่ขาดทุน แม้อีก 8 เดือนที่เหลือจะได้รับผลกระทบก็ตาม

โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสาร 15,000 คน เทียบกับวันเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 184,000 คน หรือลดลง 91% สนามบินดอนเมือง มีจำนวน 39,000 คน เทียบกับวันเดียวปีก่อนที่มี 114,000 คน หรือลดลง 65% และสนามบินภูเก็ตมีจำนวน 6,000 คนจาก 50,000 คนในปีก่อน หรือลดลง 67%

ขณะที่บริษัทไม่มีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบิน เพราะบริษัทได้ขยายเวลาการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในสนามบินและสายการบินอีกครั้ง ทั้ง 6 ท่าอากาศยาน สำหรับงวด ก.พ.-ก.ค.63 จาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน

รวมถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์ที่บริหารดิวตี้ฟรี และจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.63-31 มี.ค.74 ได้ปรับเวลาสัญญา เป็นเริ่ม 1 เม.ย.65-31 มี.ค.75 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)ในเดือน เม.ย.65 ที่ติดปัญหาสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถเปิดได้ในปี 63 และปรับผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยคงผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) แต่ให้แปรผันตามจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด แทนของเดิมที่ให้ขึ้นกับประมาณการจำนวนผู้โดยสาร เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้

อนึ่ง กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้เสนออัตราผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร 233 บาท/คนในการประมูล ซึ่งสูงกว่าสัญญาเดิมที่มีอัตราผลตอบแทน96-98 บาท/คน โดยปกติจำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 3% ต่อปี

ส่วนในช่วงวันที่ 28 ก.ย.63-31 มี.ค.65 จะให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นที่หากผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายมากหรือน้อย AOT จะได้ส่วนแบ่งมากหรือน้อยตามสัดส่วนเช่นกัน

รวมทั้งมีแนวโน้มสนามบินสุวรรณภูมิจะเกิดผลขาดทุนในงวดปี 64 หากจำนวนผู้โดยสารจะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ต้องปรับเป็นรายการด้อยค่าสินทรัพย์ แทนการบันทึกค่าเสื่อมราคา ดังนั้น การที่สายการบินไทยแอร์เอเชียเพิ่มฐานปฏิบัติการบินมาที่สนามบินสุวรรณภูมิจะช่วยทำให้สนามบินสุวรรณภูมิไม่เสี่ยงกับการขาดทุน โดยเบื้องต้นสายการบินไทยแอร์เอเชียจะจัดสรรเครื่องบิน 6 ลำมาทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงปลายเดือน ส.ค.หรือต้นเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ดี ในงวดปี 64 AOT จะมีรายได้ในธุรกิจใหม่ อาทิ ศูนย์ Certify Hub ที่คาดว่าจะเปิดบริการในเดือน ธ.ค.63 , รายได้จากแอปพลิเคขั่นของ AOT ซึ่งขณะนี้มียอดดาวน์โหลดแล้วราว 5 แสนราย, โครงการ Airport City น่าจะเริ่มมีรายได้เข้ามาปลายไตรมาส 4/63 แต่ในช่วงปีแรกอาจจะมีรายได้ไม่มากนัก

สำหรับสภาพคล่องของบริษัทขณะนี้อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาทจากที่เคยมีสูงสุด 7 หมื่นล้านบาท และจะมีการเบิกจ่ายในงวดปี 64 กว่า 3 หมื่นล้านบาทในการลงทุนอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ และบริษัทยังสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้ ทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศ หรือการเสนอขายหุ้นกู้

ดังนั้น AOT จะไม่ชะลอการลงทุน โดยยังจะเดินหน้าลงทุนส่วนต่อขยายด้านเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ (North Expansion) มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาทที่ขณะนี้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ขณะที่บริษัทเตรียมเริ่มลงทุนรันเวย์ 3 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาผู้รับเหมาได้ในเดือน ก.ย.63 ส่วนการขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3 เงินลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ทางคณะกรรมการ EIA ได้ตีความว่าเป็นพื้นที่ฟื้นฟูศักยภาพ ไม่ต้องขอ EIA ใหม่ และให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้คาดว่าโครงการนี้จะไม่ล่าช้าแล้ว

ทั้งนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT คาดว่าผู้โดยสารจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในเดือน ต.ค.65 และคาดว่างวดปี 65 จะมีจำนวนผู้โดยสารทั้ง 6 สนามบินมีจำนวน 128.64 ล้านคน ฟื้นจากงวดปี 63 และงวดปี 64 ที่ 38.81 ล้านคน และ 55 ล้านคนตามลำดับ แต่ยังคงจะไม่กลับไปเท่ากับงวดปี 62 ที่มี 143.01 ล้านคน ส่วนในงวดปี 66 คาดว่าจำนวนผู้โดยสาร เพิ่มเป็น 150.61 ล้านคน ขณะที่ Capacity รวม 6 สนามบินเท่ากับ 101 ล้านคน

Back to top button