NOK ยื่นศาลฯขอฟื้นฟูกิจการ เซ่นพิษ “โควิด” ดันหนี้สินพุ่ง 2.6 หมื่นล.

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สาย …


นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า วันนี้บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากบริษัทมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบธุรกิจที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว และหลายประเทศไม่สามารถทำการบินได้ ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปทันที ขณะที่ NOK ยังมีภาระค่าใช้จ่าย โดยยังทำการบินจากสนามบินดอนเมืองเพื่อช่วยเหลือในการขนส่งบุคคลาการทางการแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ ทำให้สูญเสียกระแสเงินสด และประสบผลขาดทุน ขณะที่เกิดผลขาดทุนสะสมจำนวนมาก จึงต้องพึ่งกระบวนการศาลล้มละลายกลาง

รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องบิน ตกเดือนละ 300 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีก และเราไม่ได้ปลดพนักงานทำให้กระทบกระแสเงินสดนายวุฒิภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ หนี้สินส่วนใหญ่ของ NOK มาจากค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งมีเจ้าหนี้กว่า 10 ราย โดยมีสัญญาเช่านานสุด 7 ปี ปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ขนาด 189 ที่นั่ง จำนวน 14 ลำ และจะรับมอบอีก 2 ลำในเดือน ..-.. ซึ่งเป็นไปตามสัญญาเดิม และเครื่องบินใบพัด Q400 จำนวน 8 ลำ ส่วนนี้ใช้สนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง

ส่วนหนี้สินสถาบันการเงินแทบไม่มี เพราะบริษัทหันมาใช้เงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 พันล้านบาท และยังใช้จ่ายไม่หมดซึ่งได้รับการขยายเวลากู้ออกไปอีก 1 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้นำเงินเพิ่มทุนไปชำระหนี้ ทำให้ภาระต้นทุนการเงินลดลงและช่วยลดต้นทุนรวม 30% ทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 4/62 ดีขึ้น

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า การยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะช่วยปลดล็อกค่าเข่าเครื่องบินที่เป็นรายจ่ายหลัก และปลดล็อกสัญญาที่ทำไว้ในอดีตก่อนที่จะเข้ามาถือหุ้นและบริหาร ซึ่งเป็นภาระสำคัญ และจะนำมาต่อรองกับเจ้าหนี้ด้วย โดยคาดว่าไม่เกิน 3 เดือนจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมเสนอแต่งตั้งผู้บริหารแผนต่อศาลได้ ในระหว่างนี้จะเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอให้เห็นชอบแผนฟื้นฟูด้วย

บริษัทเชื่อมั่นว่าแผนฟื้นฟูกิจการมีความเป็นไปได้สำเร็จสูง เนื่องจากที่ผ่านมา NOK ทำการบินเต็มตลอด โดยมีเที่ยวบิน 604 เที่ยว/สัปดาห์ ครอบคลุม 23 จังหวัด ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบินแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตามในข่วงไตรมาส 1-2 /63 บริษัทประสบผลขาดทุนจากการที่ไม่มีคนเดินทาง จนปัจจุบันธุรกิจเริ่มฟื้นตัว โดยดีมานด์ในประเทศ 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะนกแอร์ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบิน และหน่วยงานราชการกลับมาอุดหนุนมากขึ้น นอกจากนี้สายการบินคู่แข่งก็ลดจำนวนเครื่องบิน ลดความถี่การบินทำให้การแข่งขันลดลง

สำหรับการที่สายการบินนกสกู๊ตเลิกกิจการนั้น ทั้งผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการ มองว่าจะเป็นการหยุดค่าใช้จ่ายได้ทันทีโดย NOK ก็จะรับพนักงานและผู้บริหารสายการบินนกสกู๊ตเข้ามาทำงาน นอกจากนี้มองว่าการให้บริการเส้นทางต่างประเทศ NOK ก็สามารถดำเนินการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องแยกการบริหาร ดังนั้น ในระยะยาว NOK จะขยายเส้นทางต่างประเทศจากปัจจุบันให้บริการไปอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

Back to top button