BANPU-CWT เปิดตัวเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า ‘บ้านปูเน็กซ์ อีเฟอร์รี่’ นำร่องบริการภูเก็ต ก.ย.นี้

BANPU-CWT เปิดตัว 'บ้านปูเน็กซ์ อีเฟอร์รี่' เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทย นำร่องบริการภูเก็ต ก.ย.นี้ ก่อนขยายสู่ 4 จังหวัดทะเลอ่าวไทย-อันดามันปี 68


บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ในกลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU, บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT และบริษัท ภูเก็ต พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป จำกัด เปิดตัวเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลในกลุ่มผลิตภัณฑ์เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า ‘บ้านปูเน็กซ์ อีเฟอร์รี่’ (BanpuNext e-Ferry) ซึ่งกรมเจ้าท่าจดทะเบียนเป็นเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของประเทศไทย พร้อมนำร่องให้บริการในจ.ภูเก็ตเป็นที่แรกในเดือนก.ย.63  หลังจากนั้นจะรุกพัฒนาเพื่อขยายตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ครอบคลุม 4 จังหวัดแถบทะเลอันดามันและอ่าวไทยภายในปี 68

โดย นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BANPU และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นโครงการระดับแฟลกชิพที่ทั้ง 3 องค์กร ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเรือให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ Green Tourism

ทั้งนี้ บ้านปูเน็กซ์ ได้สนับสนุนงบประมาณ และนำนวัตกรรมความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานมาใช้ในการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทย โดยนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (LiB) ขนาด 625 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh) จากบริษัท ดูราเพาเวอร์ เครือข่ายพันธมิตรที่บ้านปูเน็กซ์เข้าไปร่วมลงทุน มาใช้กับเรือลำนี้ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับเครื่องหมายการันตีคุณภาพ และสิทธิบัตรต่างๆ ในระดับสากลกว่า 40 ใบ บ้านปูเน็กซ์ยังติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต และนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) มาใช้ควบคุมการผลิต ส่งจ่าย และใช้พลังงานบนเรือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

พร้อมรวบรวมข้อมูลจากระบบดังกล่าว มาใช้ตรวจสอบการทำงานของเรือ วางแผนการบริหารจัดการพลังงาน และการซ่อมบำรุง รวมถึงนำข้อมูลการใช้พลังงานจากระบบแพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things :IoT) มาพัฒนาและออกแบบการใช้พลังงานให้ตรงกับความต้องการ และเหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าแต่ละรายต่อไปในอนาคต

โดยล่าสุดเตรียมสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำที่ 2 ภายใต้นวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร โดยจะเสริมฟังก์ชันในการผลิตพลังงานสะอาด ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้า เพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามากักเก็บ และใช้บนเรือลำนี้ คาดว่าจะผลิตแล้วเสร็จภายในปี 64

ทั้งนี้ บ้านปูเน็กซ์ คาดการณ์ว่าหากนำเรือท่องเที่ยวเที่ยวไฟฟ้าลำนี้ไปให้บริการนักท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนดเป็นระยะเวลา 1 ปี จะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ถึง 26,250 ลิตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ได้ 69.3 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 8,700 ต้น3 โดยนอกจากความร่วมมือในครั้งนี้ บ้านปูเน็กซ์ ยังเดินหน้านำนวัตกรรมความรู้ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ทันสมัยของบริษัท และเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อส่งเสริมทุกภาคส่วนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Betterment for all)

“เราได้วางแผนโรดแมปในการผลิตเรือไฟฟ้าประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของกรมเจ้าท่า ปัจจุบันมีเรือท่องเที่ยวทางทะเลประมาณ 3,000 ลำ โดย 2,000 ลำให้บริการอยู่ในแถบทะเลอันดามัน และอ่าวไทยใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ดังนั้นบริษัท จึงวางเป้าหมายจะผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าให้บริการครอบคลุมในแถบทะเลอันดามันและอ่าวไทยครอบคลุมทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าวนี้ ภายในปี 2568 เพื่อรองรับโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า สนับสนุนประสบการณ์การท่องเที่ยวสีเขียวให้กับนักท่องเที่ยว และคนในชุมชนท้องถิ่น ตอบเทรนด์การใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดในอนาคต และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานของไทยสู่ Energy 4.0″ นางสมฤดี กล่าว

ด้าน นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า จากการร่วมมือกันแบบบูรณาการระหว่างสกุลฎ์ซี บ้านปูเน็กซ์ กรมเจ้าท่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงนักวิจัยไทยทุกคนที่ร่วมกันพัฒนาเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกในประเทศไทย ให้สามารถก้าวข้ามจากการทดลองเรือต้นแบบสู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งความท้าทายของโปรเจกต์นี้ คือ การผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของภูเก็ต พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป ได้ครบถ้วนในราคาที่เหมาะสม พร้อมระบบขับเคลื่อนที่ได้มาตรฐานระดับสากล

โดยสกุลฎ์ซีได้ออกแบบโครงสร้างเรือให้มีพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์ด้านการบริการนักท่องเที่ยว ออกแบบจุดวางแบตเตอรี่ให้อยู่กลางลำเรือ (Design Balancing) เพื่อรองรับการสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มีการใช้เทคโนโลยีการประกอบเรือแบบไร้รอยต่อ รวมถึงใช้วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักของเรือ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษ คือ น้ำหนักเบา เน้นความแข็งแรงทนทาน ไม่เป็นสนิม ปลอดภัย เรือไม่จม และประหยัดพลังงาน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีข้อดีกว่าเหล็กซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้ผลิตเรือเช่นกัน ใช้มอเตอร์ที่ผ่านมาตรฐานรับรองจาก IEC2 เลือกใช้สายไฟ และท่อรางแบบที่ใช้สำหรับยานพาหนะทางน้ำโดยเฉพาะ

ทั้งยังวางระบบฉนวนป้องกันการเกิดประกายไฟ และการลัดวงจร รวมถึงติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิ การแจ้งเตือนความร้อนของแบตเตอรี่ และการควบคุมระบบระบายความร้อนของมอเตอร์ชุดขับเคลื่อน เพื่อให้เรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งระบบต่างๆ และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิต และขับเคลื่อนเรือลำนี้ได้รับการทดสอบโดย สวทช. สำหรับเรือลำนี้ มีขนาดความยาว 20 เมตร สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุด (Top Speed) กว่า 17 นอต (knots) และมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี

ส่วน นายไชยา ระพือพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ต พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวจำนวนมาก บริษัทในฐานะผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของภูเก็ต เล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริม และสร้างการตระหนักรู้ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Tourism) ที่สอดรับกับนโยบายการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยการนำเรือท่องเที่ยวไฟฟ้ามาให้บริการนักท่องเที่ยว จึงมองหาองค์กรชั้นนำที่สามารถผลิตเรือท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด 100%  ซึ่งบ้านปูเน็กซ์ และสกุลฎ์ซีได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีต่างๆ มาผสานเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาการผลิตเรือให้ตอบโจทย์ธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าสามารถรองรับนักท่องเที่ยว ความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และเสียง ช่วยคืนความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางน้ำ รวมถึงด้านการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงให้กับบริษัท โดยเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าขนาดใหญ่ลำนี้ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุด 90 คน ขณะเดียวกันยังตอบรับมาตรการ Social Distancing ในช่วงการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม สะดวกสบาย และไม่แออัด

“เราจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่าน ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป นำร่องในเส้นทางท่องเที่ยวภูเก็ต-อ่าวพังงาเป็นที่แรก”นายไชยา กล่าว

ขณะที่นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ทางกรมฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตเรือครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี และได้นำมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในโอกาสพิเศษวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า ครบรอบ 161 ปี โดยถือเป็นเรือที่กรมเจ้าท่าจดทะเบียนให้เป็นเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของประเทศไทย โดยผ่านมาตรฐานการรับรองตามข้อบังคับของกรมฯ ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัยต่างๆ ก่อนที่จะนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้า  พร้อมช่วยยกระดับมาตรฐานระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีของไทย

Back to top button