“สภาอุตฯ” แนะครม.ใหม่ ตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน ฟื้นฟูศก. ชงกู้เพิ่ม 1 ล้านลบ. ดูแลฐานราก

“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” แนะครม.ใหม่ เร่งตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชงกู้เพิ่ม 1 ล้านลบ. ดูแลฐานราก


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยถึงภารกิจสำคัญเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ คือ การตั้งคณะทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เหมือนคณะทำงานแก้ปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลดำเนินการได้ผลดีในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลควรรีบตั้งคณะทำงานดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เพราะมี ครม. ใหม่แล้ว การเมืองนิ่งแล้ว คณะทำงานนี้จะเสนอมาตรการในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องกระจายเป็นมาตรการย่อยแล้วค่อยๆ เสนอขึ้นมาเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ มองว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จากมูลค่าการท่องเที่ยวของไทยปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท ขณะนี้มีคนตกงานแล้ว 3 ล้านคน ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการใหม่เพิ่มเติม หรือมาตรการเดิมขยายออกไปให้เกิดผลจะมีคนตกงานปีนี้ 6-7 ล้านคน และมีผู้ประกอบการทยอยปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น

“รัฐบาลต้องใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่านี้ วงเงินจากการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับ รวม 1.9 ล้านล้านบาท ยังไม่เพียงพอ เห็นว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งยังสามารถทำได้ เพราะหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ระดับต่ำ เราจะเสนอในคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากรัฐบาลมีการตั้งขึ้นมา” นายสุพันธุ์ กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคเอกชนได้มีการรวมตัวกัน นอกเหนือจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่มี ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และยังมีเอกชนเข้ามาร่วมเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะเข้าร่วมเป็นคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจภาครัฐ

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่คณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจควรดำเนินการก่อน คือ การแก้ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งภาคเอกชนจะเสนอให้มีการยืดหนี้ออกไปอีก 2 ปี โดย 6 เดือนแรก พักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนที่เหลืออีก 1 ปี ครึ่งให้จ่ายแต่ดอกเบี้ย และพักเงินต้น

  “เอกชนเห็นว่าปัญหาโควิด-19 ยืดเยื้อถึงปีหน้า ซึ่งภาคเอกชนยังไม่สามารถทำรายได้เข้ามาจนมีกำไรได้ ดังนั้นจึงมีการเสนอยืดเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ไปจนถึงปี 2565 โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการผ่อนผันเงื่อนไขให้สถาบันการเงินไม่นับการพักหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เสีย” นายสุพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังจะมีการเสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพราะมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังมีกำลังซื้อ รวมทั้งภาครัฐต้องเร่งการใช้จ่าย และการเร่งให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันปล่อยกู้ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้ปล่อยกู้ได้เพียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

Back to top button