PACE ลุ้นศาลรับแผนฟื้นฟู ต.ค.นี้ คาดพาธุรกิจพลิกกำไรปี 65 – ปลด SP ปี 66

PACE ลุ้นศาลรับแผนฟื้นฟู ต.ค.นี้ คาดพาธุรกิจพลิกกำไรปี 65 – ปลด SP ปี 66


นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานในช่วงวันที่ 16 ก.ย.-2 ต.ค. 63 เพื่อชี้แจงข้อมูลต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่เจ้าหนี้ได้ทราบอีกครั้ง เพื่อไกล่เกลี่ยและทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้อง

โดยเจ้าหนี้หลักของบริษัทมีอยู่ 3 รายได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่สนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัท และเป็นผู้ร่วมทำแผนฟื้นฟูร่วมกับบริษัทด้วย, เจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหนี้การค้า และลูกค้าที่ซื้อโครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทไปที่ยังไม่ได้โอน ซึ่งหากการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี และศาลพิจารณารับแผนฟื้นฟูฯ บริษัทก็จะสามารถเริ่มดำเนินการตามแผนได้

หลังจากวันที่ 2 ต.ค.63 หากศาลพิจารณารับแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนั้น บริษัทจะใช้ระยะเวลาในการเตรียมการต่างๆ เพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอีกราว 6 เดือน แต่ในช่วงดังกล่าวก็จะทยอยเริ่มกลับมาก่อสร้างและตกแต่งโครงการนิมิตร หลังสวน เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับลูกค้า

ขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการนิมิตร หลังสวน มูลค่า 8 พันล้านบาท ปัจจุบันงานโครงสร้างตัวอาคารแล้วเสร็จ 99% แล้ว เหลืองานตกแต่งภายในที่ต้องดำเนินการต่อหลังศาลรับแผนฟื้นฟู ซึ่งหากเป็นไปตามกระบวนการดังกล่าว คาดว่าโครงการนิมิตรหลังสวน จะแล้วเสร็จและทยอยโอนให้กับลูกค้าได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 ต่อเนื่องไปถึงปี 65 ทำให้บริษัทเริ่มมีรายได้เข้าจากธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

PACE ระบุว่า โครงการนิมิตร หลังสวน ถือเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างนัยสำคัญต่อการช่วยพลิกฟื้นบริษัท เพราะหากสามารถเริ่มทยอยโอนได้ตามแผนก็จะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาเกือบ 8 พันล้านบาท และหากสามารถโอนโครงการได้ทั้งหมดตามที่ลูกค้าได้ซื้อไปแล้ว 90% จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีโอกาสพลิกกลับมามีกำไรในปี 65 ได้ หลังจากนั้นในช่วงเดือนก.พ. 66 ก็จะสามารถปลดเครื่องหมาย SP และกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ตามปกติ เพราะผลการดำเนินงานกลับมามีกำไร และส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ประกาศงบปี 62 ออกมาส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 579.21 ล้านบาท

ส่วนโครงการมหาสมุทร ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จไปเพียงบางส่วน ขณะนี้ได้หยุดการก่อสร้างและการขายไว้ชั่วคราว โดยวิลล่า 80 หลัง มูลค่า 3.7 พันล้านบาท ปัจจุบันขายไปแล้ว 14 หลัง และโอนไปแล้ว 7 หลัง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% เหลือเพียงในส่วนของคันทรี่ คลับ ที่ก่อสร้างไปเพียง 70% ต้องสร้างเพิ่มเติมหลังจากนี้ โดยจะต้องใช้เงินลงทุนอีกหลักร้อยล้านบาท แต่บริษัทจะพยายามหาผู้ซื้อ หรือหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน เพื่อผลักดันโครงการมหาสมุทรให้เดินหน้าหลังจากนี้เพื่อสร้างรายได้เข้ามา

ด้านแบรนด์ Dean & Deluca ในไทย เริ่มมีกำไรมาแล้วตั้งแต่ปี 62 ปัจจุบันมีสาขา Dean & Deluca เปิดอยู่ 12 สาขาในประเทศไทย แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 10 สาขา สาขาเฟรนไชส์ 2 สาขา ซึ่งธุรกิจยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง และถือเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดเข้ามาให้กับบริษัท แม้ว่าในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 บ้าง แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์แล้วยอดขายก็กลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะสาขาเซ็นทรัลแอมบาสซีที่ทำยอดขายสูงสุด

ขณะที่ร้านสาขา Dean & Deluca ในสหรัฐฯ ได้ปิดสาขาไปทั้งหมดแล้ว และยื่นฟื้นฟูกิจการไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเจรจาจบได้ในเร็วๆนี้ จากนั้นจะบันทึกค่าใช้จ่ายเข้ามาครั้งเดียว และจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ Dean & Deluca ในสหรัฐฯ เพื่อทำให้กลับมาดำเนินการได้

บริษัทวางแผนปรับรูปแบบการดำเนินงานของ Dean & Deluca ให้เป็นรูปแบบการขายเฟรนไชส์มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการลงทุนขยายสาขาด้วยตัวเอง ทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยรูปแบบการขายเฟรนไชส์จะทำทั้ง Dean & Deluca ในไทยและสหรัฐฯ ซึ่งร้าน Dean & Deluca ในไทยหากมีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ได้มองแผนที่จะผลักดันเข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการช่วยขยายการเติบโตให้กับ Dean & Deluca และทำให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนนำไปลงทุนต่อในอนาคตเมื่อบริษัทพลิกฟื้นกลับมา

“แนวทางของ PACE ก็จะทำให้บริษัท Lean มากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทให้ลดลง หลังจากที่บริษัทเริ่มเห็นทางออก และได้รับความร่วมมือจาก SCB ที่เข้ามาช่วยเราวางแผนฟื้นฟูกิจการ หากวันที่ 2 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ศาลรับแผนฟื้นฟู บริษัทก็จะเดินตามแผนฟื้นฟู โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการนิมิตร หลังสวน ให้แล้วเสร็จ โอนให้ลูกค้าได้ทำให้มีรายได้เข้ามา ทำให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมา และกลับมาเทรดได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องสร้บงความเชื่อมั้นให้นักลงทุน” นักลงทุนสัมพันธ์ PACE กล่าว

หลังจากบริษัทกลับมาฟื้นขึ้นในอนาคตข้างหน้าแล้วนั้น บริษัทจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไป แต่การลงทุนจะเน้นการพัฒนาโครงการที่เป็นรูปแบบให้ผู้ซื้อเป็นผู้ตกแต่งเอง แบบ Bare Shell คล้ายกับโครงการ WINDSHELL ที่บริษัทพัฒนามาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายลงทุนมากเหมือนโครงการอื่นๆ ที่บริษัทเคยพัฒนามาในช่วงที่ผ่านมา

และจะผลจากการขยายร้าน Dean & Deluca ให้มีสาขาเฟรนไชส์มากขึ้น ซึ่งธุรกิจอาหารให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) สูง และเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัท ทำให้จะเป็นธุรกิจที่เข้ามาเสริมธุรกิจหลักช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาดีขึ้น

สำหรับการล้างขาดทุนสะสมในอนาคตนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้งหลังจากบริษัทได้ฟื้นกลับมาชัดเจนแล้ว ซึ่งมีกระบวนการและเครื่องมือที่รองรับการล้างขาดทุนสะสม โดยทางทีมบริหารจะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

Back to top button