อิทธิพล ‘เงินหยวน’

นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ ในปี 2521 อิทธิพลของจีนก็แผ่ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เริ่มกลัว จึงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมอิทธิพลของจีนจนลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีอยู่ในขณะนี้ แต่ดูเหมือนว่า นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้จีนละความพยายาม และยังคงเดินหน้าทำตามแผนปฏิรูปและพัฒนาต่อไป และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของจีนก็คือ ความพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ “เงินหยวน” ในระดับสากล


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)

นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ ในปี 2521 อิทธิพลของจีนก็แผ่ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เริ่มกลัว จึงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมอิทธิพลของจีนจนลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีอยู่ในขณะนี้ แต่ดูเหมือนว่า นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้จีนละความพยายาม และยังคงเดินหน้าทำตามแผนปฏิรูปและพัฒนาต่อไป และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของจีนก็คือ ความพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ “เงินหยวน” ในระดับสากล

แม้ว่าทุกวันนี้เงินหยวนมีสัดส่วนเพียงประมาณ 2% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก แต่รายงานของมอร์แกนสแตนลีย์ ชี้ว่ามันอาจเพิ่มเป็น 5-10% ภายในปี 2573 โดยจะมีสัดส่วนมากกว่าเงินเยนของญี่ปุ่นและเงินปอนด์ของอังกฤษ

นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์คาดการณ์ว่า การลงทุนของต่างชาติในตลาดจีนที่เพิ่มมากขึ้น อาจสนับสนุนให้มีการใช้เงินหยวนมากขึ้นจนกลายเป็นเงินสำรองที่มากสุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร

รัฐบาลจีนได้เพิ่มความพยายามที่จะอนุญาตให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจในตลาดภายในประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติยังได้หันมาหาตลาดจีนมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

มอร์แกน สแตนลีย์คาดว่า การลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไหลเข้าสู่จีนจะเริ่มมีความสำคัญมากกว่าการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในช่วงทศวรรษหน้า โดยจะมีเงินไหลเข้าไปลงทุนรวม  3 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันคาดว่าผู้จัดการทุนสำรองและเอกชนจะนำเงินไหลเข้าสู่จีนมากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยเป็นปีที่สามติดต่อกัน ซึ่งย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และเงินทุนที่ไหลเข้าจีนจะมีมูลค่าถึง 200,000-300,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2564-73

ด้วยการลงทุนเหล่านี้ สินทรัพย์ทั่วโลกจะอยู่ในรูปเงินหยวน

เดิมรัฐบาลจีนได้ ควบคุมเงินหยวนอย่างเข้มงวด เช่นห้ามให้เงินทุนจำนวนมากออกนอกประเทศ  แต่ในปี 2558 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ โดยได้เพิ่มเงินหยวนเข้าไปในตะกร้าเงินสำรองหลัก ๆ ที่เรียกว่า “สิทธิถอนเงินพิเศษ” ในเดือนตุลาคม 2559

มอร์แกน สแตนลีย์คาดการณ์ เงินหยวนน่าจะแข็งแกร่งที่ 6.6 หยวนต่อดอลลาร์ภายในปลายปี 2564 ขณะที่มีการซื้อขายใกล้ 6.85 หยวนต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ของมอร์แกน ชี้ว่า เป้าหมายที่เงินหยวนจะมีสัดส่วน 5% ถึง 10% ของทุนสำรองทั่วโลกเป็นเรื่องที่เป็นจริงได้ หากจีนเปิดตลาดการเงิน รวมตลาดทุนข้ามพรมแดนที่เราเห็นในตลาดหุ้นและรายได้คงที่มากขึ้น และมีการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนจีนเป็นสกุลเงินหยวนมากขึ้น ทั้งหมดนี้ชี้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องถือเงินหยวนเป็นทุนสำรองมากขึ้น

จากข้อมูลของธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางทั่วโลกประมาณ 70 แห่งถือเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อปลายปี 2562 จากที่มีเพียง 60 แห่งในปี 2561

นอกจากนี้นักวิเคราะห์มอร์แกน สแตนลีย์ยังชี้ว่า  การเปลี่ยนแปลงของตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีการพึ่งพาการส่งออกเพื่อการเติบโตเป็นหลัก จะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำเข้าเงินทุน โดยคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของจีน อาจติดลบตั้งแต่ปี 2568 และติดลบถึง 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2573

นั่นหมายความว่า จำเป็นจะต้องมีทุนต่างชาติไหลเข้าจีนต่อปีอย่างน้อย 180,000 ล้านดอลลาร์จึงจะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ยังต้องดูกันต่อไปว่า ธนาคารกลางและสถาบันการลงทุนจะจัดการกับแรงกดดันทางการเมืองในการจัดสรรการถือครองเงินหยวนอย่างไร ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มจากการค้าได้ลามไปยังภาคเทคโนโลยี และการเงิน เมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน

แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบางคนแสดงความสงสัยเกี่ยวกับการเติบโตของเงินหยวนที่จะเป็นเงินสำรองสำคัญ แต่ก็มองว่า การคาดการณ์ของมอร์แกน สแตนลีย์ก็มีเหตุผล แต่ชี้ว่า จีนต้องปรับตัวมากเพื่อที่จะสร้างความสมดุลใหม่ต่อแหล่งดีมานด์ในเศรษฐกิจ และตัวอย่างในอดีตได้ชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวจะต้องเกี่ยวข้องกับการแปลงโฉมสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

มอร์แกน สแตนลีย์ยอมรับว่า การคาดการณ์ของธนาคารที่ว่าเงินหยวนจะมีความสำคัญมากขึ้นในระดับนานาประเทศก็มีความเสี่ยงหลาย เช่น การเปิดตลาดการเงินจีนให้กับการลงทุนของต่างชาติช้ากว่าที่คาด ตลาดโลกมีความผันผวน จีนมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และมีความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มากขึ้น

ประเทศที่ถือเงินหยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นในขณะนี้คือรัสเซีย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประเทศอื่น ๆ จะทำตามหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเปิดเศรษฐกิจจีนไม่เกิดขึ้นเร็วเพียงพอ

Back to top button