“รฟม.” ยันประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 9 พ.ย. ยึดเกณฑ์เดิมตามคำสั่งศาล ควบคู่ยื่นอุทธรณ์

“รฟม.” ยันประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 9 พ.ย. ยึดเกณฑ์เดิมตามคำสั่งศาล ควบคู่ยื่นอุทธรณ์


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ของพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาให้กลับมาใช้หลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยมาพิจารณาด้านการเงิน 100%เป็นเกณฑ์ตัดสิน จากที่เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์จากด้านเทคนิค 30% และด้านการเงิน 70%

ขณะเดียวกัน รฟม.ก็ยังเดินตามกระบวนการประมูล ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือกำหนดวันยื่นซองประมูลในวันที่ 9 พ.ย.นี้  อย่างไรก็ตามคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 จะมีการประชุมก่อนวันรับซองประมูล ระหว่างวันที่ 1-8 พ.ย.นี้ คาดว่าจะนำเรื่องคำสั่งศาลดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือจะยังคงรับซองประมูลตามกำหนดเดิมหรือไม่

“ศาลยังให้สิทธิทางรฟม.สามารถอุทธรณ์ได้ เราก็คงยื่นอุทธรณ์ไปส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ในเบื้องต้นคงต้องเชิญคณะกรรมการมาตรา 36 ร่วมหารือร่วมกัน ศาลไม่ได้มีคำสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนไว้ก็ยังสามารถดำเนินการได้”ผู้ว่าการ รฟม. กล่าว

โดยรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 จะยื่นอุทธรณ์ให้เร็วที่สุด โดยน่าจะยื่นได้ก่อนวันที่ 9 พ.ย. และเชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดจะช่วยเร่งรัดการพิจารณาเช่นเดียวกับชั้นศาลปกครองกลาง

ส่วนเอกชนจะยื่นซองมาแบบไหนให้ไปพิจารณาเอาเองในช่วงที่รอการพิจารณาของศาลปกครอง ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ใดมาตัดสินเอกชนก็ควรยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดเข้ามา แต่จะมีการเลื่อนยื่นซอง หรือยกเลิกการประมูลหรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36

นายภคพงศ์ อธิบายว่า หากดำเนินการตามกระบวนการประมูล หลังจากที่รับซองจะเปิดซองด้านคุณสมบัติหลัง 14 วัน โดยจะเปิดซองต่อหน้าเจ้าของซองเพื่อยืนยันว่าความถูกต้อง โดยการเปิดซองคุณสมบัติก็ยังไม่มีผลอะไรต่อการพิจารณาของศาลฯ หลังจากนั้นก็มาประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์หรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ หากในระหว่างนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง รฟม.ก็ใช้เกณฑ์ใหม่ไม่ได้ ทั้งนี้จะเปิดซองเทคนิคหรือการเงินหรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการมาตรา 36

ทั้งนี้ โอกาสยกเลิกการประมูลครั้งนี้ก็ขึ้นกับคณะกรรมการมาตรา 36 โดยสิทธิยกเลิกกำหนดไว้เอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) อยู่แล้ว แม้กระทั่งยื่นซองแล้วก็สามารถยกเลิกได้ หรือในขั้นตอนการเปิดซองด้านคุณสมบัติจนถึงขั้นตอนการเจรจาก็มีสิทธิยกเลิกได้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม โดยปกติคำพิพากษาคดีหลักจะใช้เวลาพิจารณานาน โดยที่ผ่านมากรณีก่อนหน้าก็ไม่รอผลการพิจารณาคดีหลัก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะใช้สิทธิอุทธรณ์

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า กลุ่ม BTS มีความพร้อมเสนอซองประมูลและได้เตรียมข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งสอดรับกับหลักเกณฑ์ที่ รฟม.กำหนด ดังนั้นไม่ว่าจะมีการกำหนดใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาข้อเสนอในอนาคต กลุ่ม BTS ก็มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล ส่วนความคืบหน้าของการจัดหาพันธมิตรในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ยังไม่ขอเปิดเผย

หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน โดยทุเลาการประกาศใช้เอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ฉบับเพิ่มเติม ตาม ที่รฟม.มีกำหนดเพิ่มเติมเพื่อปรับหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอใช้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน ก็เป็นผลให้ รฟม.จะต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิม คือ พิจารณาข้อเสนอโดยให้คะแนนด้านราคา 100 คะแนน

อย่างไรก็ดี การจะกำหนดใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับ รฟม.จะต้องดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันตามคำสั่งศาลถือได้ว่าต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่หาก รฟม.ยื่นอุทธณ์ ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถดำเนินการได้ และระหว่างนี้ รฟม.มีกำหนดเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ดังนั้นในฐานะเอกชนก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา เพราะอยู่ที่ดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ บีทีเอสในฐานะเอกชนที่จะยื่นข้อเสนอประมูลโครงการนี้ยืนยันจะเข้าร่วมประมูลตามเดิม

Back to top button