พาราสาวะถี

ติดตามกันว่าการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันแรกวันนี้ ทิศทางจะเป็นอย่างไร เป็นการถกกันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศหรือจะซ้ำเติมวิกฤติให้หนักข้อขึ้น จุดเป็นห่วงเมื่อพิจารณาเนื้อหาตามที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจส่งให้ประธานรัฐสภาคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญของชาติ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีการอภิปรายอันเกี่ยวข้องกับสถาบัน ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าใครจะกล้าอภิปราย แล้วฝ่ายนำเสนอจะหยิบยกกรณีนี้มาเป็นการโจมตี กล่าวหาขบวนการคนหนุ่มสาวอย่างไร


อรชุน

ติดตามกันว่าการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันแรกวันนี้ ทิศทางจะเป็นอย่างไร เป็นการถกกันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศหรือจะซ้ำเติมวิกฤติให้หนักข้อขึ้น จุดเป็นห่วงเมื่อพิจารณาเนื้อหาตามที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจส่งให้ประธานรัฐสภาคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญของชาติ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีการอภิปรายอันเกี่ยวข้องกับสถาบัน ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าใครจะกล้าอภิปราย แล้วฝ่ายนำเสนอจะหยิบยกกรณีนี้มาเป็นการโจมตี กล่าวหาขบวนการคนหนุ่มสาวอย่างไร

กลายเป็นว่าช่องทางที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการใช้เวทีสภาเพื่อเล่นงานม็อบ สร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ ขณะที่ฝ่ายค้านเดิมทีก็ตั้งท่าจะไม่เข้าร่วมประชุม สุดท้ายก็เคาะกันว่าจะเข้าร่วม โดย สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านบอกว่า แม้จะผิดหวังกับญัตติที่จะนำมาอภิปราย แต่ก็จำใจต้องเข้าร่วมประชุม เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงที่ประชาชนถูกกล่าวหา

ไม่เช่นนั้น 3 ฝ่ายคือ ส.ว. คณะรัฐมนตรี และส.ส.รัฐบาล จะถือโอกาสใช้ข้อมูลด้านเดียวมาอธิบาย จึงเป็นความจำใจที่ฝ่ายค้านต้องปฏิบัติหน้าที่นี้ สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยเป็นกังวลก็คือการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อหวังว่าจะเป็นการแก้วิกฤติใช้สภาหาทางออก แต่สุดท้ายจะกลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งขึ้นมา ญัตติของรัฐบาลห่างไกลจากทางออกของวิกฤติ แต่มีเจตนาที่ซ่อนเร้นในการกล่าวหาและโยนความผิดให้ผู้ชุมนุม และเจตนาจะเบี่ยงเบนไม่ให้พูดถึงความล้มเหลวที่มีหลายด้านของรัฐบาล

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา แนวโน้มของการอภิปรายในสภาที่จะยกเอาสถาบันมาโจมตีผู้ชุมนุมนั้นค่อนข้างเด่นชัด ท้ายที่สุดญัตตินี้ก็คือเวทีฟอกตัวเองของรัฐบาล เอาประชาชนเป็นจุดอ่อนและรัฐบาลเป็นจุดได้เปรียบ เพราะความจริงสิ่งหากฝ่ายกุมอำนาจมีความจริงใจแล้ว จะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยมาจนถึงขนาดนี้ ควรจะมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว

โดยการตั้งคณะกรรมาธิการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณานั้น ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุชัด เป็นการศึกษาที่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์และสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะผลของการพิจารณาไม่มีสาระสำคัญ ไม่มีความเห็นในรายงาน เสมือนไม่ผ่านการศึกษาในรายละเอียดมาก่อน ไม่มีข้อคิดเห็นและข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ในรายงานแต่อย่างใด ไม่มีมติไปในทิศทางใด เพราะเป็นการรวบรวมเอาความคิดเห็นของกรรมาธิการแต่ละคนไปรวมไว้ในรายงาน

ทั้งที่ ความเป็นจริงก็เป็นความคิดเห็นชุดเดิมจากที่ได้อภิปรายกันไว้ในสภาก่อนที่จะมีการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญนั่นเอง หากรัฐบาลมีความจริงใจอย่างแท้จริง ก็รับหลักการไปและตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาตามกระบวนการ ป่านนี้ก็น่าจะมีความชัดเจนกันไปแล้วว่า ร่างแก้ไขแต่ละฉบับที่เสนอกันมานั้น มีข้อจำกัดอย่างไร และควรจะผ่านความเห็นชอบในร่างใดในการพิจารณาของรัฐสภาวาระ 2 และ 3

นั่นหมายความว่า เมื่อเปิดสภาสมัยสามัญมาในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ รัฐสภาน่าจะได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับในวาระสองและสามแล้ว และป่านนี้ม็อบที่เคลื่อนไหวกันคึกคักอยู่เวลานี้ อาจจะถอยกลับไปรอฟังคำตอบกันนับตั้งแต่วันนั้น แต่เมื่อเลือกที่จะยื้อดึงกันมาถึงเวลานี้ ท้ายที่สุด อาจจะไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ และหากสถานการณ์มันบานปลายเพราะผลแห่งการเปิดประชุมสภาวิสามัญ ก็จะกลายเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแทน

อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังความเคลื่อนไหวของฝ่ายชุมนุมอย่างที่บอกมาโดยตลอด ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นข้อเสนอเพราะเป็นเงื่อนไขที่เปราะบาง ในที่สุดก็กลายเป็นประเด็นอ่อนไหว ถูกทำให้อีกฝ่ายนำมาเป็นข้อกล่าวหา โจมตีและเป็นการด้อยค่าการชุมนุม ทำให้พลังที่ถูกสร้างขึ้นแทนที่จะพุ่งเป้าหมายไปที่การกดดันให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหลุดพ้นไปจากเก้าอี้และแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ กลับไม่เป็นไปตามนั้น

แน่นอนว่าการชุมนุมเป็นสิทธิทางการเมืองของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นชอบกับข้อเสนอทั้งหมด หรือเพียงบางข้อของการชุมนุมก็ได้ แต่หลักใหญ่ใจความสำหรับคนไทยแล้วยังคงยึดหลักการสำคัญคือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครอยากได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังเชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการอย่างแน่นอน

ความเห็นของ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นน่าสนใจ กับการที่เจ้าตัวประกาศตัวเอง “เป็นพวกเอาเจ้า ไม่ล้มเจ้า และไม่โหนเจ้า” เรื่องนี้สำคัญ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยรามคำแห่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้ถึงความสุดโต่งของบางคนบางพวก และทำให้เห็นว่าสำหรับบางพวกบางคนนั้นพร้อมที่จะทำร้ายฝ่ายเห็นต่างโดยมีคนถือหางว่าเป็นการสั่งสอนกับการกระทำที่ไม่เหมาะสม

ทั้งความเป็นจริงแล้ว โลกแห่งประชาธิปไตยไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไรก็ไม่ควรที่จะจบด้วยความรุนแรง มากไปกว่านั้น คนที่เห็นต่างในเรื่องของความเชื่อต่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดไม่ควรที่จะถูกทำร้ายร่างกาย ดังนั้น สิ่งสำคัญของการป้องกันปัญหาบานปลายที่จะเกิดขึ้นคือ หากจะเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ควรปล่อยให้เป็นการชุมนุมโดยธรรมชาติของประชาชนแต่ละกลุ่ม เพราะม็อบธรรมชาติจะไม่มีใครปลุกระดมนำไปสู่ปลายทางที่รุนแรง ส่วนม็อบจัดตั้งนั้นส่วนใหญ่จะเกิดการชี้นำจากการตั้งธงของคนที่อยู่เบื้องหลังซึ่งไร้อุดมการณ์ ก็ต้องถามว่าคนที่คิดและทำเช่นนี้หวังดีต่อประเทศจริงหรือ

Back to top button