CIMBT มองสวน! คาดหุ้นไทยตอบรับ “ทรัมป์” กว่า “ไบเดน” ชี้ “เทรดวอร์” หนุนจีนย้ายฐานผลิต

CIMBT มองสวน! คาดหุ้นไทยตอบรับ "ทรัมป์" กว่า "ไบเดน" ชี้ “เทรดวอร์” หนุนจีนย้ายฐานผลิต


นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันนี้ (3 พ.ย. 63) หากผลการเลือกตั้งออกมานายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย น่าจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทยมากกว่านายโจ ไบเดน เพราะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคาดว่าใกล้จะจบ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปรับขึ้นเพดานภาษีจะเริ่มผ่อนคลายลง เนื่องจากที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว

รวมถึงนโยบายของนายทรัมป์ จะส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐานการผลิต ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ โดยไทยนับว่าเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีนที่จะสานต่อไปยังการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้ไทยจะเป็นหนึ่งประเทศที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯทดแทนจีน ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

แต่หากนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง มองว่าไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วมการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพราะนายไบเดนจะอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการโอบล้อมจีน ซึ่งจะเห็นว่าการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง แต่ไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตหากไม่ร่วม CPTPP แต่ไทยก็ยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำสหรัฐคนต่อไป สหรัฐก็จะกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 (America Second) ในอนาคต และจีนจะขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ (China Number One) เพราะทั้งนายทรัมป์ และไบเดน ไม่ใช่ผู้นำโลกการค้าเสรี ทั้งคู่ไม่ได้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ แต่จะผลักดันกระแสชาตินิยม เน้นการสร้างงานให้สหรัฐฯ Made in USA เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หรือกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) ซึ่งกระแสชาตินิยมในสหรัฐฯกำลังผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกการค้าเสรีแทน

ดังนั้น ประเทศไทยจะยังต้องเปิดรับทั้งสหรัฐฯและจีนให้ได้ โดยไม่เลือกข้าง เพราะไทยยังคงต้องค้าขายกับจีน แม้จีนจะยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 ของโลกในขณะนี้ แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ทำให้ไทยต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตให้จีนมากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยมากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่เรียกว่า “เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ” ที่เป็นการเปิดรับทั้ง 2 ด้าน เดินหน้า RCEP และร่วม CPTPP แม้ความขัดแย้งของสหรัฐฯและจีนจะยังอยู่ภายใต้การเข้ามาทำงานของผู้นำสหรัฐฯคนต่อไป

ไทยไม่สามารถหนีกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ ผมเชื่อว่าไทยและอาเซียนยังสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ความขัดแย้งตรงนี้ แต่หากบริหารไม่ดี กระแสโลกาภิวัฒน์ตีกลับ จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพได้”นายอมรเทพ กล่าว

Back to top button