อบจ.วัดพลัง ‘ก้าวหน้า’

กกต.ห้ามข้าราชการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียง แม้ไม่ห้ามสังกัดพรรค ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้สมัครเกือบทุกจังหวัด ก็เป็นพี่เป็นน้อง เป็นผัวเป็นเมีย เป็นพ่อแม่ลูก ของ ส.ส.หรือรัฐมนตรี


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

กกต.ห้ามข้าราชการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียง แม้ไม่ห้ามสังกัดพรรค ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้สมัครเกือบทุกจังหวัด ก็เป็นพี่เป็นน้อง เป็นผัวเป็นเมีย เป็นพ่อแม่ลูก ของ ส.ส.หรือรัฐมนตรี

ทั้งที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่ห้ามรัฐมนตรีหาเสียง แต่ต้องนอกเวลาราชการ ห้ามใช้กลไกงบประมาณรัฐ เช่น ห้ามใช้รถประจำตำแหน่ง ห้ามใช้อำนาจที่ได้เปรียบคู่แข่ง

ทำไมไม่ใช้หลักการเดียวกัน ทำไมต้องห้าม ส.ส. ซึ่งไม่มีอำนาจใช้งบประมาณ ไม่มีอำนาจสั่งข้าราชการ ลองนึกภาพ ส.ส.ฝ่ายค้าน ถูกห้ามเดินช่วยผู้สมัครพรรคตัวเองหาเสียง

ซึ่งตรงกันข้าม ในทางปฏิบัติก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี เช่นระหว่างที่เมียลงสมัคร รัฐมนตรีอาจไปแจกของช่วยน้ำท่วม อาจไปป่าวประกาศจะนำโครงการลงพื้นที่ โดยอ้างว่าไม่ได้หาเสียงให้เมียแม้แต่คำเดียว แต่ชาวบ้านรู้ทั้งจังหวัด

กฎมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 34 ห้าม “กระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด”

ท่อนแรกถูกต้อง ท่อนหลัง “ดำเนินการใด ๆ” อาจฟังคลุมเครือ กระนั้นถ้า กกต.จะตีความในทางที่เปิดกว้าง สอดคล้องหลักการประชาธิปไตย ก็น่าจะตีความว่า ดำเนินการโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่ช่วยหาเสียงไม่ได้เลย

ตลกร้าย การตีความอย่างนี้เลยไปเข้าทางคณะก้าวหน้า ธนาธร ปิยบุตร ช่อ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ฯลฯ แกนนำอนาคตใหม่ที่ถูก กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค เดินสายหาเสียงกันได้ทั่วประเทศ ชูนโยบายที่เป็นเอกภาพ สร้างแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ พรรคอื่นทำได้ยาก เช่นเพื่อไทย อาจมีแต่คุณหญิงหน่อยเดินสาย

อันที่จริง ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น คณะก้าวหน้าก็เป็นกลุ่มเดียวที่มีแบรนด์ชัดเจน ฉีกออกมาจากพรรคการเมืองอื่น ๆ คือนำเสนอคนหน้าใหม่ วิธีการหาเสียงใหม่ แบบที่อนาคตใหม่เคยใช้ ขณะที่พรรคการเมืองอื่น แม้แต่พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง 30 จังหวัด ก็ไม่ได้มีภาพเป็นพรรคหรือมีเอกลักษณ์ทางการเมืองชัดเจน

เพราะสนามเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ไหนแต่ไรมา เป็นเรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องที่กลุ่มการเมืองทุนท้องถิ่นตกลงกัน ฮั้วกัน หรือแข่งกันเอง เกี่ยวกับการเมืองระบบพรรคน้อยมาก และนักการเมืองเหล่านี้ก็มีฐานเสียงจากระบบอุปถัมภ์ เครือข่ายหัวคะแนน แบบการเมืองเก่า

ดังจะเห็นได้จากรายชื่อผู้สมัคร ทางภาคใต้ มีหลายพื้นที่ที่ญาติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แข่งกันเอง หรือแข่งกับคนของพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ทางภาคเหนือภาคอีสาน ก็มีหลายพื้นที่ ที่คนของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคภูมิใจไทย แข่งกันเอง (เช่นที่โคราช เมียรัฐมนตรีภูมิใจไทยแข่งกับอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีของหัวหน้าพรรค)

แต่บางพื้นที่ก็ตกลงกัน จัดทีมร่วมกัน เช่นคนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ คนของพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ร่วมทีมรองนายกฯ แบบไม่มีมิตรไม่มีศัตรูในท้องถิ่น มีแต่คณะก้าวหน้า เป็นตัวแปลกปลอม

สภาพอย่างนี้บางพื้นที่จึงไม่มีคำว่าเหลืองแดง ทางใต้เหลืองซดเหลือง ทางเหนืออีสานบางจังหวัด ที่คนของเพื่อไทยแข่งกันเอง จะบอกให้มวลชนเสื้อแดงเลือกใคร เลือกคนใส่เสื้อเพื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ก็พูดได้ไม่เต็มปาก หนักกว่านั้นคือบางพื้นที่ มวลชนก็ไม่ได้ศรัทธาในตัว ส.ส. แต่เขาเลือกพรรคให้ไปสู้กับเผด็จการ

กระแสประชาธิปไตย กระแสคนรุ่นใหม่ ความเบื่อนักการเมืองท้องถิ่นหน้าเก่า ฯลฯ เข้าทางคณะก้าวหน้าทั้งนั้น พูดอีกอย่างยังจะวัดพลังระหว่างการเมืองระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากมานาน กับการเมืองวิถีใหม่ ของคนรุ่นใหม่ ว่าใครจะชนะใจประชาชน

มองในด้านนี้ น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้ อบจ.พื้นที่กว้างใหญ่ นักการเมืองหน้าใหม่อาจชนะได้ยาก แต่ก็วัดพลังก่อนลงสนามเทศบาล หรือ อบต.ในช่วงต่อไป

Back to top button