40 ส.ว. เข้าชื่อยื่นรัฐสภา ส่งศาลตีความ 3 ร่างแก้ รธน. เพื่อความรอบคอบ ปัดจงใจยื้อ

40 ส.ว. เข้าชื่อยื่นรัฐสภา ส่งศาลตีความ 3 ร่างแก้ รธน. เพื่อความรอบคอบ ปัดจงใจยื้อ


นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ส.ว. ประมาณ 40 กว่าคน ได้รวบรวมรายชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ใน 7 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากลงมติรับหลักการทั้งที่ญัตติขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน

สำหรับ 3 ญัตติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม iLaw  แม้จะมีผู้เข้าชื่อเกือบแสนคน แต่ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่ม iLaw มีหน้าที่ดำเนินการหรือไม่ และเป็นองค์กรที่มาจากต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นมีการสารภาพแล้วว่ารับเงินมาจากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่องค์กรซึ่งรับเงินมาจากต่างประเทศมาสร้างความวุ่นวายในประเทศไทย และตั้งข้อสังเกตว่ามีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคที่อยู่เบื้องหลังกลุ่ม iLaw

ส่วนอีก 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือร่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และควรทำประชามติก่อนหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนายื้อหรือประวิงเวลา แต่เป็นไปเพื่อความรอบคอบ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อไม่ให้ ส.ว.ถูกชี้ความผิดทีหลัง

ส่วนจะส่งผลถึงสถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เราต่างก็เป็นคนไทย การชุมนุมไม่ผิด แต่อย่าเลยเถิด ประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เพราะยังมีประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งจำนวนมหาศาลที่ทนไม่ได้เหมือนกัน อย่าเลยเถิดไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

      “ถ้าหากการชุมนุมมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีคำสั่งจากนอกประเทศไม่ใช่ในประเทศไทย อันนั้นก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง ส่วน ส.ว.มีหน้าที่ดูแลกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น” นายเกียรติศักดิ์ ระบุ

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 พ.ย.นี้ วันเดียวอาจจะไม่เพียงพอ และอาจต้องมีการประชุม 2 วัน คือ 17-18 พ.ย. ขณะเดียวกันก็มีประเด็นปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากมีร่างของกลุ่ม iLaw เข้าสู่การพิจารณาด้วย ประธานรัฐสภาจึงจะเรียกวิป 3 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ส.ว. หารือร่วมกันวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ เพื่อกำหนดกรอบเวลาแนวทางการพิจารณาและลงมติว่าจะต้องพิจารณาร่าง iLaw ก่อนแล้วค่อยลงมติ หรือลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่างไปก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาร่างของ iLaw รวมถึงหารือถึงประเด็นที่ ส.ว.เข้าชื่อกันเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ญัตติด้วย

นายวิรัช เชื่อว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะไม่ทำให้การพิจารณาของรัฐสภาสะดุด เพราะสามารถทำไปพร้อมกันได้ส่วนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ส่งไปตามระบบ ส่วนที่พิจารณาก็พิจารณาตามกระบวนการขั้นตอน มั่นใจว่าวันที่ 17- 18 พ.ย.นี้ จะแล้วเสร็จในวาระแรกแน่นอน

ส่วนข้อกังวลของ ส.ว.ที่ห่วงว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะมิชอบและอาจกระทบต่อการทำหน้าที่นั้น นายวิรัช มั่นใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาวาระ 3 และมั่นใจว่าจะไม่ถือเป็นความผิดใดๆ

มีรายงานข่าวว่า สำหรับญัตติที่สมาชิกรัฐสภายื่นเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนั้น พบว่า ผู้เสนอญัตติคือนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมแนบรายชื่อผู้รับรองญัตติ 73 คน ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 48 คน อาทิ นายนายกิตติ วะสีนนท์, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, นายสังศิต พิริยะรังสรรค์, นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นอกจากนี้ยังมีรายชื่อ ส.ส.อีก 25 คนแนบท้ายด้วย อาทิ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, นายสายัณห์ ยุติธรรม และน.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันติ

Back to top button