“อาคม” ชี้ศก.ไทยหลังโควิด “ล้มแล้วลุกได้ไว” เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับลงทุนต่างชาติ

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ชี้เศรษฐกิจไทยหลังเผชิญโควิด "ล้มแล้วลุกได้ไว" เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับลงทุนต่างชาติ


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก” ว่า การที่เศรษฐกิจไทยสไลด์ตัวลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ส่วนโอกาสการฟื้นตัวจะเป็นในรูปแบบวีเชฟหรือยูเชฟนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือเมื่อเศรษฐกิจที่สไลด์ตัวลงไปแล้วจะต้องลุกขึ้นให้ได้ และจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ จากที่ก่อนหน้านี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศถูกล็อกดาวน์จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด ส่วนความชัดเจนของเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นในรูปแบบใดนั้น คงต้องรอการแถลงอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในสัปดาห์หน้า

นายอาคม กล่าวว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ หากจะเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 จะพบว่า ในปี 40 ปัญหามาจากระบบสถาบันการเงินเป็นหลัก ผลกระทบจากระดับบนลงสู่ระดับล่าง สภาพคล่องหาย เงินสดหาย แต่สถานการณ์โควิดวันนี้ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ และเป็นผลกระทบจากฐานล่างขึ้นมาเรื่อยๆ จนทำให้เงินสดและสภาพคล่องหายไป ยิ่งเจอมาตรการล็อกดาวน์ ก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหยุดชะงักไป 3-4 เดือน ซึ่งต่างจากปี 40 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับยังเคลื่อนต่อไปได้

แต่วันนี้ มองว่าสถานการณ์ต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัว นอกจากนี้กำลังซื้อจากภาคการเกษตรเริ่มดีขึ้น ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องกำลังซื้อของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน

          “จุดแข็งของเราคือ เศรษฐกิจเราตอนนี้ไม่ได้ป่วย สุขภาพเราแข็งแรง แต่ไปเจอทางลาด ทำให้ลื่นล้ม ซึ่งต่างจากในปี 40 ที่เหมือนจะแข็งแรง แต่ไม่แข็งแรง เราจึงล้ม แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเราล้มแล้วจะลุกได้ไว” รมว.คลัง กล่าว

นายอาคม มองว่า งบประมาณของภาครัฐที่นำไปช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศนั้นยังมีเพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบนี้ จะต้องให้ความช่วยเหลือลงไปถึงประชาชนในฐานรากอย่างแท้จริง ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี เห็นว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทไม่ได้ถูกกระทบ แต่กลับสร้างโอกาสที่ดีเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ และการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลมากในปีนี้ และน่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต

          “ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีประมาณ 2 ล้านล้านบาท ยังขาดอีกประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็ต้องกู้เงินมาเพิ่ม ส่วนจะกู้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีรายได้จากแหล่งอื่นอีกหรือไม่ เพราะตามหลักการแล้วรายได้รัฐไม่ได้มาจากภาษีเท่านั้น แต่ยังมาจากเงินกู้ จากรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งในปีนี้รัฐบาลก็ขอให้รัฐวิสาหกิจส่งเงินเพิ่ม หลายแห่งอาจจะต้องควักเนื้อ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร หรือเงินจากกองทุนต่าง ๆ เงินจากทุนหมุนเวียน รัฐบาลก็จะมีเงินเหล่านี้เข้ามาช่วยปิดหีบ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลอาจไม่ต้องกู้เงินถึง 6 แสนล้านบาท อาจจะแค่ 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น” นายอาคม กล่าว

นายอาคมกล่าวด้วยว่า นอกจากการใช้เงินผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังมีหน้าที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ซึ่งเงินที่จะใช้ดำเนินการในส่วนนี้มาจากการระดมทุนในตลาดทุน และการกู้เงิน โดยรัฐบาลได้พยายามเร่งรัดในส่วนนี้ เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ และการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ

พร้อมยืนยันว่า แหล่งเงินที่จะใช้ในการดูแลเศรษฐกิจในปีนี้ของรัฐบาลไม่มีปัญหา ฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง แต่ปีหน้าอาจจะลำบาก เพราะผู้เสียภาษีจะเจอปัญหาจากผลประกอบการปีนี้ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะต้องเสียภาษีปีหน้า กระทรวงการคลังได้เตรียมการไว้แล้วว่าปีหน้าจะมีวิธีการหาเงินอย่างไร

          “โครงสร้างพื้นฐานไม่ค่อยได้พูดกันวันนี้ พูดแต่ว่าเรื่องท่องเที่ยวเมื่อไรจะเปิด แต่ว่าวันนี้เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เงินที่นำมาลงทุนมาจากการลงทุนในตลาด การกู้เงิน นี่คือการพัฒนา แม้จะอยู่ในวิกฤติโควิด ต้องไม่ลืมเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งรัด วันนี้รถไฟฟ้าอยู่ในระหว่างก่อสร้างหลายสาย…แหล่งเงินในปีนี้ ไม่มีปัญหา ผู้ว่าฯธปท. บอกแล้วว่าทุนสำรองมี ฐานะการคลังปีนี้ดี แต่ปีหน้าอาจลำบากนิดนึง เพราะผู้เสียภาษีเจอปัญหาผลประกอบการปีนี้ ซึ่งต้องไปเสียภาษีปีหน้า แต่เราเตรียมการไว้ว่าในปีหน้าจะมีวิธีการหาเงินอย่างไร” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ นายอาคม ยังมองว่า กระทรวงการคลังได้มีการเตรียมความพร้อมในการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับการหารายได้ในระยะกลางและระยะยาว และเพื่อให้โครงสร้างภาษีใหม่สามารถตอบสนองกับทั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยหลักการปรับโครงสร้างภาษี คือ ให้มีรายได้เพิ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราภาษี เป็นเพียงการปรับโครงสร้างภาษีให้สมดุลมากขึ้น เพื่อให้ไปสู่อุตสาหกรรมที่ต้องการสนับสนุน โดยขณะนี้ได้เริ่มมีการวางแผนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

          “ระยะยาว และระยะปานกลาง เราจะใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิมไม่ได้ เพราะวันนี้เราลด แลก แจก แถมเยอะมาก รายได้จึงต่ำกว่าประมาณการอยู่เป็นประจำ เราต้องปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อสตาร์ทอัพได้ ต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ หลักการคือ ให้มีรายได้เพิ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องขึ้นภาษี แต่เป็นการปรับโครงสร้างให้สมดุลมากขึ้น” รมว.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องสอดประสานกัน ซึ่งในทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว ดังนั้นในการประสานงานนั้นต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน บรรยากาศทางการเงินในขณะนี้ถือว่าเอื้อต่อการลงทุน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ หากไม่เร่งลงทุนในช่วงเวลานี้ อาจจะทำให้เสียโอกาสได้

    “บรรยากาศการเงินในตอนนี้ ถือว่าเอื้อกับการลงทุน ทำไมเราไม่เร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน ถ้ามองว่ารอไปก่อน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ แต่ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น 4-5% ทุกอย่างก็จะแพง ถ้าเราไม่ลงทุนในช่วงเศรษฐกิจลง และการเงินเอื้ออำนวย เราจะเสียโอกาส” รมว.คลัง กล่าว

Back to top button