“พลังงาน” ชงต่อ “กพช.” เคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน นำร่องรับซื้อ 150 MW 16 พ.ย.นี้

“กระทรวงพลังงาน” ชงต่อ “กพช.” เคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน นำร่องรับซื้อ 150 MW 16 พ.ย.นี้


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ของการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ความเห็นชอบ โดยเป็นโครงการนำร่องขนาด 150 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย 25 %) 75 เมกะวัตต์

รวมทั้งกำหนดให้เป็นการเสนอขายไฟฟ้าจากชีวมวลได้ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ส่วนก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ซึ่งต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ

สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า ส่วนการให้ผลประโยชน์อื่น ๆ นั้น ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอหลักเกณฑ์การขอใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 เข้าสู่ที่ประชุมกพช.ในครั้งนี้ด้วย โดยเบื้องต้นยังคงกำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 6,500 ล้านบาท

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ไทยเตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 63 ซึ่งมีประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) แบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมากขึ้น จากเดิมที่ลงนามการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย (LTM) จำนวน 100 เมกะวัตต์ ต่อมาได้ขยายเป็น 300 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ อาเซียนจะขยายความร่วมมือเชื่อมโยงไฟฟ้าเป็น 4 ประเทศ โดยรวมประเทศสิงคโปร์เข้ามาด้วยเป็น LTMS และสิงคโปร์จะเสนอขยายการซื้อขายไฟฟ้าอีก 100 เมกะวัตต์ เป็น 400 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น การจะลงนามขยายกรอบความร่วมมือเป็น 400 เมกะวัตต์ดังกล่าว จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน และจะต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้ข้อตกลงทางการทูตด้วย

นอกจากนี้ไทยจะหารือเกี่ยวกับการขยายสายส่งไฟฟ้าจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับกัมพูชาและเมียนมา เนื่องจากไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินความต้องการใช้มากเกือบ 50% ของความต้องการทั้งประเทศ

 

Back to top button