“สุรชัย” ผิดหวังรายงาน กมธ. ไม่ชัดเจน ลั่นหนุนแก้ รธน. รายมาตรา-ปิดสวิตช์ ส.ว.

“สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” เผยผิดหวังรายงาน กมธ. รแก้รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ไม่ชัดเจน ลั่นหนุนแก้รายมาตรา-ปิดสวิตช์ ส.ว.


นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ได้ชี้แจงหลักการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ประกอบด้วย

ฉบับที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉบับของพรรคฝ่ายค้าน

ฉบับที่ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล

ฉบับที่ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ของพรรคฝ่ายค้าน

ฉบับที่ 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ของพรรคฝ่ายค้าน

ฉบับที่ 5 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279

และ ฉบับที่ 6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ของพรรคฝ่ายค้าน

ด้านนายนิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า กมธ.พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายใน 4 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างที่ 1 และ 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 -22/2555 หรือไม่

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ โดย กมธ. มีความเห็นทั้ง 2 แนวทางคือ ไม่ต้องทำประชามติก่อน เพราะบทบัญญัติกำหนดให้ทำประชามติหลังจากผ่านการพิจารณาวาระสาม อีกแนวทางคือต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้นผ่านการทำประชามติมาก่อน

ประเด็นที่ 3 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอื่นใดของพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ กมธ. พิจารณาแล้วว่ามี 38 มาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ โครงสร้างพระราชอำนาจนั้นควรวางหลักการเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขที่ขัดต่อมาตรา 255

ประเด็นที่ 4 กรณีที่รัฐสภารับหลักการ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 และร่างที่ 3-6 ที่เสนอแยกเป็นรายมาตรา นั้น กมธ. เห็นว่าทำได้ แต่อาจทำให้มีผลเกิด 2 องค์กรทับซ้อนด้านอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่พึงกระทำ และมีความเห็นต่อไป คือ หากรับหลักการฉบับที่ 1 และ ฉบับ 2 ไม่รับหลักการฉบับที่ 3-6 แล้ว ส.ส.ร. จะแก้ไขมาตราที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่ กมธ. เห็นว่า ทำได้ เพราะเป็นอำนาจของส.ส.ร. แต่ต้องเป็นไปภายใต้มาตรา 255 อย่างเคร่งครัด

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ซักถามว่า กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นั้นคือ การให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งขัดต่อหลักการแห่งหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้อำนาจเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ กมธ. นำเสนอรายงานนั้นน่าผิดหวัง เพราะไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน ส่วนคำอธิบายต่อการทำประชามตินั้น มาตรา 256(8) กำหนดให้ทำหลังพ้นวาระ 3 แล้วนั้น มองว่าในรายละเอียดคือการวางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากแก้ไขในเรื่องสำคัญต้องทำประชามติ ไม่ใช่หลักการของการทำประชามติ

“รัฐสภาต้องรักษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปกป้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากในรายงานที่ยังมีความเห็นไม่ชัดเจนดังนั้นในอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจึงไม่ชัดเจน ดังนั้นควรทำให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 -22/2555 ระบุให้ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติ ดังนั้น ควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ส่งเรื่องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่หาก กมธ.ไม่สามารถตอบคำถามได้ ผมขอใช้เอกสิทธิ์เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา รวมถึงร่างแก้ไขมาตราที่ให้ปิดสวิทช์ ส.ว.ด้วย ทั้งนี้การตัดสินใจลงมติขอให้เป็นไปอย่างอิสระ ไม่ควรถูกกดดัน” นายสุรชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ ส.ว.นั้นยังมีทิศทางเดียวกันต่ออำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา ที่ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา หรือ การแก้ไขด้วยวิธีการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้อำนาจ ส.ส.ร. ดำเนินการ

Back to top button