ทั้งรักและชัง ‘บิ๊กเทค’

อิทธิพลและความยิ่งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี กำลังเป็นที่หวั่นวิตกต่อรัฐบาลทั่วโลก  มีความพยายามในหลายประเทศที่จะควบคุมอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยีกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ด้วยเกรงว่าหากปล่อยให้ใหญ่มากเกินไปจะเอาไม่อยู่  ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนก็ได้ร่างระเบียบใหม่เพื่อคุม “บิ๊กเทค” จนส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนดิ่งระเนระนาด


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

อิทธิพลและความยิ่งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี กำลังเป็นที่หวั่นวิตกต่อรัฐบาลทั่วโลก  มีความพยายามในหลายประเทศที่จะควบคุมอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยีกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ด้วยเกรงว่าหากปล่อยให้ใหญ่มากเกินไปจะเอาไม่อยู่  ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนก็ได้ร่างระเบียบใหม่เพื่อคุม บิ๊กเทค” จนส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนดิ่งระเนระนาด

รัฐบาลจีนก็เหมือนกับรัฐบาลวอชิงตัน หรือรัฐบาลทั่วโลกที่ทั้งรักและทั้งชังบริษัท “บิ๊กเทค” เนื่องจากว่า ในขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศเป็นสำคัญ และบริษัทเทคโนโลยียังถือเป็นความสำเร็จของจีนและหลายประเทศในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความทันสมัยและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น  แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านี้ก็เริ่มมีอิทธิพลและมีพฤติกรรมในการผูกขาดและต่อต้านการแข่งขันจนเกินงาม ซึ่งจำเป็นต้องเข้าไปควบคุม

สำหรับประเทศจีน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การออกกฎระเบียบใด ๆ ต่อบริษัทเทคโนโลยี จะต้องมั่นใจว่า จะไม่ไปขัดขวางแผนการอันทะเยอทะยานของจีนที่จะกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก

เช่นเดียวกับในอเมริกา ภาคเทคโนโลยีของจีนได้เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งและส่วนใหญ่ไม่มีภาระผูกพัน  แม้ว่าได้มีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลบ้างแล้วในบางธุรกิจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ  รัฐบาลจีนกำลังเพิ่มความพยายามมากขึ้น เช่น ได้ออกระเบียบในการกำหนดราคา วิธีการชำระเงิน และระเบียบเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลของลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น

พฤติกรรมในการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีจีนได้เติบโตขึ้นมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และบริการหลายอย่างของบริษัทเทคโนชั้นนำได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของประชาชนไปแล้ว  จึงค่อนข้างยากและมีความละเอียดอ่อนที่จะออกระเบียบมาคุมบิ๊กเทคโดยไม่กระทบต่อผู้ใช้บริการ

ตัวอย่างเช่น แอป WeChat ของบริษัทเทนเซนต์มีคนใช้มากกว่าหนึ่งพันล้านคนต่อเดือน แต่แอปฯ นี้ไม่ได้เป็นเพียงแอปฯ ส่งข้อความ ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินค่าสินค้าผ่าน WeChat Pay ได้ จองตั๋วเครื่องบิน รถไฟและซื้อสินค้าออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องออกจากแอปฯ นอกจากนี้เทนเซนต์ยังโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจเกมด้วย

ส่วน Alipay ของแอนต์กรุ๊ปก็ได้รับความนิยมในจีนมากเช่นกัน โดยมีผู้ใช้ต่อเดือนกว่า 700 คน นอกจากอาลีบาบาถือหุ้นในแอนต์ กรุ๊ปอยู่ 33% แล้ว อาลีบาบาก็ให้บริการคลาวด์ เช่นกัน

ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับการควบคุมบิ๊กเทคในสหรัฐฯ มานานหลายปีแล้ว และการออกระเบียบมาคุมบริษัทเทคโนโลยี ได้แสดงให้รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นแล้วว่าเป็นงานที่ยากมาก  ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่า ต้นกำเนิดของอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเป็นล้อหมุนอย่างอิสระ   อินเทอร์เน็ตได้รับการพัฒนาโดยนวัตกรรมที่ไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งเป็นหลักการที่อนุญาตให้ผู้สร้าง ทดลองใช้เทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจได้อย่างอิสระ  ในขณะเดียวกัน ไม่มีแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างสากลและได้มีการปล่อยให้บริการอินเทอร์เน็ตควบคุมคอนเทนต์ตัวเองมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีข่าวว่าทางการจะเข้าไปเข้มงวดกับบริษัทเทคโนโลยี ก็มักจะส่งผลให้หุ้นปรับตัวลงแรงทั้งกระบิ  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ หุ้นอาลีบาบาดิ่งรุนแรง แม้ว่าจะทำยอดขายทะลุทะลวงในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ วันซิงเกิล เดย์ ที่ได้กลายเป็นวันช้อปปิ้งของโลกไปแล้ว และยังดิ่งลงเกือบ 10% หลังจากที่ทางการจีนระงับการเสนอขายไอพีโอของบริษัท แอนต์ กรุ๊ป ทั้งในตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงตลาดหลักทรัพย์ เพียงไม่กี่วันก่อนที่จะเข้าเทรด

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ได้แสดงความเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่คุมระเบียบทางการเงินของจีน จึงมีการมองกันว่า นี่อาจเป็นสาเหตุให้มีการระงับการเสนอขายไอพีโอของแอนต์ กรุ๊ป และอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนต้องออกระเบียบป้องกันการผูกขาดในครั้งล่าสุด

รายงานของมอร์แกน สแตนลีย์ชี้ว่า อาลีบาบา เทนเซนต์  เหมยเถียน เจดีดอทคอม และพินตัวตัว อาจได้รับผลกระทบจากระเบียบใหม่ทั้งหมด แต่ยังต้องดูกันว่าจะมีการบังคับใช้กันอย่างไร และจะมีการออกเป็นกฎหมายหรือมีระเบียบเพิ่มเติมอีกหรือไม่

ในขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะควบคุมบริษัทเทคโนโลยีอย่างไร มีความเห็นตรงกันว่า จีนอาจสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วกว่า เนื่องจากการปกครองของจีนกับสหรัฐฯ แตกต่างกัน  โดยมีมุมมองจากนักวิเคราะห์ของยูเรเซีย กรุ๊ป ว่าเมื่อรัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจที่จะออกระเบียบควบคุม ก็จะทำได้ง่ายกว่าและบริษัทจะต้องทำตาม   เพียงแต่ว่าทางการจีนจะต้องเคลื่อนไหวอย่างระวัง เพราะบิ๊กเทคมีสเกลที่จะได้รับประโยชน์จากข้อมูลและจะแข่งขันในสนามแข่งระดับโลกได้ ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ปักกิ่งต้องการผลักดัน

อย่างไรก็ดี การจัดการกับกฎระเบียบต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบิ๊กเทคจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่มีกฎระเบียบออกมาบังคับใช้อย่างไม่คาดคิดและอย่างกะทันหัน อยู่เสมอมา  และเชื่อว่า บริษัทเหล่านี้จะมีทางหนีทีไล่ต่อระเบียบใหม่ ๆ ได้เสมอ

ขึ้นชื่อว่า “บิ๊กเทค” ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด จะเป็น คู่ชก” ที่รัฐบาลไหน ๆ ก็ “น็อก” ได้ยากเสมอ เพราะมีทั้งคุณและโทษที่ยากจะรักหรือชังเพียงอย่างเดียว

Back to top button