“กทม.” ลุ้นรัฐบาลต่อสัมปทาน BTS สายสีเขียว กังวลแบกหนี้ 8 พันล้าน

“กทม.” ลุ้นรัฐบาลต่อสัมปทาน BTS สายสีเขียว กังวลแบกหนี้ 8 พันล้าน


พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ซึ่งเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทาง 68 กิโลเมตร (กม.) ช่วงเคหะ-คูคต ได้เตรียมจะขยายสัมปทานให้กับบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ระยะเวลา 30 ปี (2572-2602) โดยอยู่ระหว่างการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เพื่อทำให้ราคาค่าโดยสารไม่สูงตามที่กำหนดไว้ที่ 65 บาท/เที่ยว จาก 158 บาท/เที่ยว หากคิดตามระยะทาง

ทั้งนี้ ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้จะประชุมหารือเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกันระหว่างกทม. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด สำนักงานการจราจรและขนส่ง และ BTS ซึ่งเบื้องต้นจะเก็บค่าโดยสาร 65 บาท/เที่ยว โดยส่วนต่าง กทม.จะรับไว้เองแม้ว่ากทม.จะขาดทุน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ราคาค่าโดยสารสายสีเขียวที่กำหนด 65 บาท/เที่ยว คิดเป็นอัตราต่อกม.ที่ 0.97 บาท/กม. ถือว่าถูกกว่ารถไฟฟ้าสายอื่น แต่ยังสูงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงปารีส ของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม หากครม.ไม่อนุมัติการขยายสัมปทานให้กับ BTS ทางกทม.ก็คงต้องขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะรถไฟฟ้าสายอื่นรัฐบาลก็ให้การอุดหนุน ขณะที่กทม.ต้องจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายด้านเหนือและด้านใต้ของสายสีเขียวที่ค้างชำระกับ BTS ในปัจจุบันจำนวน 8,300 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 8,500 ล้านบาทในเดือนม.ค.64 โดยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 200 ล้านบาท ซึ่ง BTS ได้ทวงถามเรื่องดังกล่าวมา 3 รอบแล้ว

ขณะที่ภาระหนี้ที่กทม.รับโอนส่วนต่อขยายด้านใต้และด้านเหนือของสายสีเขียว จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาทรวมดอกเบี้ยนั้นก็ต้องเจรจากับกระทรวงการคลัง เพราะ กทม.ไม่มีเงินจะจ่ายหนี้ ทำให้โครงสร้างราคาของสายสีเขียวยังไม่ชัดเจน

นอกจากนี้การเดินรถส่วนต่อขยายก็ยังไม่มีกำไร ดังนั้น หากสามารถขยายสัมปทานให้กับ BTS จะสามารถปรับราคาค่าโดยสารลงมาให้อยู่ที่ระดับ 65 บาท/เที่ยวได้ไปถึงปี 85 และ BTS จะรับหนี้ของกทม.ไปเกือบ 1 แสนล้านบาท รวมทั้ง BTS จะจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 2.4 แสนล้านบาทตลอด 30 ปี ซึ่งก็จะต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับการต่อขยายสัมปทานสายสีเขียวนั้น กทม.ไม่มีหน้าที่ตอบคำถามกับกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตามในส่วนที่มีผู้เสนอเปิดประมูลแบบสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) นั้นก็เห็นด้วยแต่จะมีเอกชนรายใดเข้ามาประมูลเพราะระยะทางน้อย และจะเกิดความไม่สะดวกในการเดินทางที่จะต้องลงรถมาต่ออีกของบริษัทหนึ่ง

วันที่ 16 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จำนวน 7 สถานี และเป็นประธานเปิดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ระยะที่1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน) พร้อมทดลองโดยสารจากสถานีคูคต-สถานีคลองสาน ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางจะเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการในเวลา 13.00 น.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่าวันนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเปิดให้บริการครบทุกสถานีตลอดเส้นทางทั้ง 59 สถานี รวมระยะทางกว่า 68 กม. มีรถไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดถึง 98 ขบวน 392 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งระบบได้สูงสุดมากกว่า 1,500,000 เที่ยวคน/วัน ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯและปริมณฑล

โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เพิ่มในวันนี้เป็นส่วนสุดท้ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 7 สถานี ประกอบด้วย สถานีพหลโยธิน สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีแยกคปอ. และสถานีคูคต

ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารในส่วนต่อขยายช่วงสถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุเฉลี่ยในวันทำการที่ 132,200 เที่ยวคน/วัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 252,200 เที่ยวคน/วัน หรือเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเพราะเป็นเส้นทางที่มีสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการสำคัญตั้งอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้จะเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนถึง 15 ม.ค.64

ส่วนรถไฟสายสีทองแม้จะมีระยะทางเพียง 1.8 กิโลเมตร แต่ถือว่าเป็นระบบบรองที่มีประสิทธิสภาพเพราะเชื่อมโยงการเดินทางทุกโหมด ครบทั้งล้อ ราง เรือ จะให้บริการฟรีตั้งแต่ 16 ธ.ค.63-15 ม.ค.64 เริ่มเก็บค่าโดยสารคงที่ 15 บาทตลอดสายตั้งแต่ 16 ม.ค.64

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง เริ่มต้นจากสถานีบีทีเอสกรุงธนบุรี ไปตามแนวถนนเจริญนครผ่านแยกคลองสานไปสิ้นสุดที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ที่บริเวณโรงพยาบาลตากสิน มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสานให้บริการด้วยรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM300 จำนวน 3 ขบวน ๆ ละ 2 ตู้ ความจุ 138 คน/ตู้ คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยวคน/วัน เปิดบริการ 6.00-24.00น.

ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ระหว่างการเจรจาค่าโดยสาร ที่จะเก็บ 65 บาท/เที่ยว ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง

Back to top button